

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.-19 เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสอบสวนควบคุมโรคที่เกี่ยวข้องกับกรณี จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมาตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย.- 16 ธ.ค. 2563 (เวลา 08.00 น.) พบผู้ติดเชื้อจำนวน 67 ราย ในจำนวนนี้เป็นการพบเชื้อหลังเข้าอยู่ในสถานที่กักกันในพื้นที่(Local State Quarantine:LQ) 48 ราย มีเพียง 2 รายที่เป็นการติดเชื้อในประเทศ ส่วนที่เหลืออีก 17 ราย เป็นผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองผ่านช่องทางธรรมชาติและ เดินทางไปใน 7 จังหวัด โดยแต่ละจังหวัดนั้นจะครบระยะเฝ้าระวัง 14 วัน คือ จ.เชียงราย วันที่ 19 ธ.ค.2563 เพราะรายที่พบต่อมาเป็นการพบในสถานที่กักกันทั้งสิ้นจ.เชียงใหม่ วันที่ 16 ธ.ค.2563 จ.พะเยา วันที่ 15 ธ.ค.2563 กรุงเทพฯ วันที่ 20 ธ.ค.2563 จ.พิจิตร วันที่ 15 ธ.ค.2563 จ.ราชุบรี วันที่ 16 ธ.ค.2563 และจ.สิงห์บุรี วันที่ 18 ธ.ค.2563
“ส่วนกรณีที่พบบุคลากรทางการแพทย์ 7 รายติดโควิด-19 จากการปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่กักกันทางเลือก(Alternative State Quarantine : ASQ) และการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกันนั้น กรมควบคุมโรค ได้แสดงความเป็นห่วงเพราะจากการไปดูพื้นที่ปรากฎว่าใน ASQ แห่งนั้นมีเชื้อติดอยู่บนลูกบิดประตู ซึ่งเป็นจุดที่มีการสัมผัสกันมาก กลายเป็นความเสี่ยง ซึ่งก็ได้สั่งกำชับว่า ในการทำความสะอาดอย่าลืมทำความสะอาดลูกบิดประตู หรือจุดเสี่ยงที่เป็นจุดสัมผัสร่วมต่างๆเด็ดขาด” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
ด้าน นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ยังไม่มีการรายงานการติดเชื้อในประเทศเพิ่มเติม และกลุ่มก้อนการระบาดในประเทศไทย สำหรับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับจ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา และ 7 จังหวัดของประเทศไทย ที่มีรายงานผู้ติดเชื้อที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายเดินทางไปนั้น ขอให้มั่นใจว่ามีความปลอดภัย สามารถไปเที่ยวได้ เพียงแต่คงมาตรการในการป้องกันส่วนบุคคล สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ล้างมือบ่อยๆ และสแกนไทยชนะด้วย
ทั้งนี้ผู้ที่เดินทางมาจาก 7 จังหวัดดังกล่าว ทุกคนไม่ได้มีความเสี่ยงกว่าคนอื่น จึงไม่จำเห็นต้องกักตัว สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ อย่างไรก็ตาม ทราบว่ามีการสั่งกักตัวนักเรียน ครู และพนักงานที่เดินทางกลับจาก จ.เชียงราย และเชียงใหม่ถือเป็นมาตรการเกินความจำเป็น ซึ่งการที่กักตัวอาจส่งผลกระทบต่อการเรียน จิตใจ และกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มีคำแนะนำให้กักตัวผู้ที่เดินทางจากเชียงราย และเชียงใหม่ ขอให้โรงเรียนและสถานที่ทำงานทบทวนมาตรการดังกล่าว หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่สายด่วน 1422
นพ.วิชาญ กล่าวด้วยว่า สำหรับความก้าวหน้าการสอบสวนโรคกรณีบุคลาทางการแพทย์ติดเชื้อใน ASQ กทม. ยอดสะสม 7 รายเท่าเดิมนั้น ได้ข้อสรุปจากการสอบสวนโรคกลุ่มก้อนนี้เป็นการติดเชื้อจากปฏิบัติงานใน ASQ โดยข้อสันนิษฐาน คือ 1 รายติดเชื้อจากผู้เข้าพักที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และแพร่กระจายให้กลุ่มเพื่อนที่คลุกคลีนอกเวลางาน แต่ไม่ได้แพร่ต่อไปบุคลากร และเจ้าหน้าที่ ASQ อื่นๆ การระบาดของกลุ่มก้อนนี้อยู่เพียงวงจำกัดสถานการณ์ควบคุมได้ และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทุกรายถูกกักตัวตามมาตรฐาน โดยจะมีการตรวจหาเชื้อ 3 ครั้ง โดยตรวจแล้ว 2 ครั้ง ไม่พบการติดเชื้อเพิ่มเติม
“บทเรียนจากกรณีนี้ ได้มีการทบทวนมาตรการต่างๆ โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ตรวจสอบมาตรฐานและการบริหารจัดการของ ASQ อย่างเคร่งครัด ส่วนโรงพยาบาลเอกชนคู่สัญญา ASQ ทุกแห่ง จะจัดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านความปลอดภัยของบุคลากรทุกแห่ง เตรียมความพร้อมวัสดุอุปกรณ์ และการป้องกันการติดเชื้อระหว่างปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัดต่อไป” นพ.วิชาญ กล่าว