การรักษามะเร็งลิวคีเมียแบบใหม่ด้วยการตัดต่อยีนเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์

ทีมวิจัยสวทช. ได้ศึกษาการใช้ CAR T–Cell รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวลิวคีเมียและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองลิมโฟมา

  • อยู่ในระยะคลินิกเฟส 1/2 
  • ทำการศึกษาในหลายสถาบันในประเทศไทย 
  • ปัจจุบันได้ทำการรักษาด้วยวิธีนี้ 11 ราย 

โรคจำนวนมากได้รับการรักษาให้หายขาดได้ด้วยเทคนิคใหม่ๆทางการแพทย์ที่มีความละเอียดลึกซึ้งมาก โดยรักษาลงไปที่ระดับเซลล์หรือระดับพันธุกรรมคือ ยีนและ DNA แม้กระนั้น โรคบางอย่างก็ยังมีความยากลำบากมากในการรักษาอยู่ เช่น โรคมะเร็ง เพราะมะเร็งชนิดที่แตกต่างกัน มี ธรรมชาติหลายอย่างที่แตกต่างกันมาก จึงมีผู้พยายามใช้ความรู้ไปดัดแปลงและปรับเปลี่ยนระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ให้มีความสามารถใน การทำลายเซลล์มะเร็งได้ โดยไม่ส่งผลกระทบกับเซลล์ปกติ วิธีการที่ได้ผลดีแบบหนึ่งเรียก Chimeric Antigen Receptor T-Cell (CAR T-Cell)  คำว่า CAR ในที่นี้ เป็นตัวอักษรย่อมาจากคำว่า Chimeric Antigen Receptor 

ขณะที่ T-Cell คือ เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งในร่างกายที่มีความสามารถในการกำจัดสิ่งแปลกปลอม เซลล์ติดเชื้อโรค หรือเซลล์มะเร็ง ในผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง T-cell ของผู้ป่วยไม่สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ จึงเกิดโรคขึ้นมา หลักการสำคัญของวิธี CAR T-Cell คือ เราดัดแปลง T-Cell ของผู้ป่วย ให้สร้างโปรตีนที่เรียกว่า CAR คล้ายๆ ติดอาวุธให้ T-cell เมื่อ T-Cell เจอกับเซลล์มะเร็ง จึงสามารถจดจำและกำจัดเซลล์มะเร็งชนิดจำเพาะเหล่านั้นได้ เทคโนโลยีนี้มีจุดเด่นคือ มี“ความจำเพาะ” กับเซลล์มะเร็งสูง เกิดอันตรายกับเซลล์ปกติเล็กน้อย การผลิต CAR T-cell จะมีความจำเพาะกับผู้ป่วยแต่ละรายเท่านั้น ต่างกับวิธีการรักษามะเร็งส่วนใหญ่ที่ใช้กันอยู่

ปัจจุบันในต่างประเทศมีการใช้เทคโนโลยีนี้รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดชนิดบีเซลล์ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันในเด็ก หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในผู้ใหญ่ ได้ผลดี มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ US FDA ให้ใช้จริงในผู้ป่วยแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว เช่น ผลิตภัณฑ์ชื่อ ทิสซาเจนเลกลูเซล (Tisagenlecleucel)  ได้รับการอนุมัติให้ใช้รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันแบบลิมโฟบลาสติก (Acute Lymphoblastic Leukemia–ALL) และโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดดิฟิวลาจน์บีเซลล์ (Diffuse large B cell lymphoma) แต่สำหรับมะเร็งชนิดที่เป็นก้อนเนื้อแข็ง เช่น มะเร็งปอด มะเร็งผิวหนัง ยังได้ผลไม่ดีมากนัก และยังไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาต แต่ได้มีการศึกษาทางคลินิกบ้างแล้ว

สำหรับในประเทศไทย ทีมวิจัยนำโดย ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง และ รศ.นพ. อุษณรัสมิ์ อนุรัฐพันธ์ นักวิจัยแกนนำของ สวทช. ประจำปี 2559 ได้ศึกษาการใช้ CAR T–Cell รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวลิวคีเมียและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองลิมโฟมา ซึ่งอยู่ในระยะคลินิกเฟส 1/2 โดยทำการศึกษาในหลายสถาบันในประเทศไทย ในปัจจุบันได้ทำการรักษาด้วยวิธีนี้ 11 รายคนไข้ทุกรายที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดตลอดจนยามุ่งเป้าแล้วหลายชนิด ผู้ป่วยที่เคยดื้อต่อการรักษามาแล้ว ตอบสนองดีมากต่อการรักษาด้วย CAR T-cell ผู้ป่วยทุกรายโรคสงบได้ โดยปัจจจุบันบริษัท เจเนพูติก ไบโอ จำกัด ซึ่งเป็นของคนไทย ได้ license จากมหาวิทยาลัยมหิดล ไปต่อยอดเพื่อขึ้นทะเบียนยากับสำนักงานอาหารและยาต่อไป  สำหรับมะเร็งแบบก้อนนั้น การศึกษาในสัตว์ทดลองได้ผลดีชัดเจน คือ ลดขนาดก้อนมะเร็งได้มากกว่าร้อยละ 60 เทคโนโลยีแบบนี้อาจเป็นทางเลือกในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง