กางแผนดูแลจิตใจคนไทยในอิสราเอล-ญาติ 3 กลุ่ม หลังพบเครียดหนัก

กรมสุขภาพจิต กางแผนดูแลจิตใจคนไทยในอิสราเอลและครอบครัว 3 กลุ่ม 3 ระยะ ตั้งแต่ระยะวิกฤต ระยะปรับตัว และระยะฟื้นฟู เผยดูแลคนไทยในอิสราเอลและญาติ 61 ราย พบเครียดทุกราย ส่งทีม MCATT ดูแลลงภูมิภาค ประเมินเยียวยาดูแลใจผู้ได้รับผลกระทบและครอบครัว

  • ดูแลจิตใจคนไทยในอิสราเอลและครอบครัว 3 กลุ่ม 3 ระยะ
  • เผยดูแลคนไทยในอิสราเอลและญาติ 61 ราย พบเครียดทุกราย
  • ส่งทีม MCATT ประเมินเยียวยาดูแลใจผู้ได้รับผลกระทบและครอบครัว

วันที่ 14 ต.ค. นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า แรงงานไทยชุดแรกที่กลับจากอิสราเอลเมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา ทั้ง 15 ราย กรมสุขภาพจิตได้ดูแลจิตใจแล้ว ประกอบด้วยจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักวิชาการสาธารณสุขและสหวิชาชีพด้านอื่นๆ จากการประเมินพบว่า มีภาวะเครียดสูง 2 ราย อยู่ในภาวะนอนไม่หลับจำนวน 7 ราย สำหรับแรงงานไทยในอิสราเอลปัจจุบันมีถึง 25,887 ราย ทำให้ครอบครัวและญาติในหลายพื้นที่มีความเครียดและกังวลอย่างมาก เพราะตอนนี้มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ได้เดินทางกลับ กรมสุขภาพจิตได้แบ่งประเภทกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม A ผู้บาดเจ็บ/ตัวประกัน/ผู้สูญหาย รวมถึงญาติของผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับผลกระทบ ได้เตรียมทีม MCATT ส่วนกลางเพื่อประเมินและดูแลจิตใจตั้งแต่ที่สนามบินและจะติดตามอย่างต่อเนื่อง

กลุ่ม B แรงงานไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงหรือปานกลาง รวมถึงญาติของกลุ่มดังกล่าว จากการดูแลจำนวน 61 ราย พบว่า มีความเครียดทุกราย เตรียมทีม MCATT ส่วนภูมิภาคประเมินและดูแลจิตใจที่ภูมิลำเนา และกลุ่ม C ประชาชนทั่วไปที่รับทราบเหตุการณ์ และผู้ปฏิบัติงานกลุ่มต่างๆ จะมีการสื่อสารในวงกว้างด้านสุขภาพจิต เช่น แนวทางการดูแลจิตใจตนเองสำหรับแรงงานไทยที่ยังเดินทางกลับมาไม่ได้ และแนวทางการดูแลสำหรับประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจจากสถานการณ์ความไม่สงบในต่างแดน

ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตกำหนดแนวทางดูแลจิตใจแรงงานไทยในสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลแต่ละกลุ่มเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1. ระยะวิกฤต (Impact Phase) ครอบคลุมช่วงระยะเวลา 24 ชั่วโมง ถึง 72 ชั่วโมง ซึ่งปฏิกิริยาทางใจที่จะแสดงออกในระยะนี้ ประกอบด้วย ช็อก โกรธ เศร้า เสียใจและวิตกกังวล ในช่วงระยะวิกฤตจะใช้แนวทางในการช่วยเหลือโดยวิธีการปฐมพยาบาลทางใจ 2. ระยะปรับตัว (Post-Impact Phase) ครอบคลุมช่วง 2-4 สัปดาห์ ซึ่งปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจะพบว่า มีอาการเศร้า เสียใจ มีการกังวลกับผลกระทบจากเหตุการณ์ โดยมีแนวทางในการช่วยเหลือของระยะนี้ ประกอบด้วย การใช้วัคซีนใจในชุมชน เพื่อค้นหาแหล่งสนับสนุนในการช่วยปรับตัว และ 3.ระยะฟื้นฟู (Recovery Phase) จะเริ่มหลังจากเกิดเหตุการณ์ 1 เดือนเป็นต้นไป บางรายอาจจะเริ่มปรับตัวได้กับวิถีชีวิตใหม่ หรือบางรายอาจแย่ลงหากยังอยู่ในพื้นที่ความไม่สงบ แนวทางช่วยเหลือจะใช้วิธีจิตบำบัด หรือสังคมบำบัดเพื่อฟื้นฟูดูแลต่อเนื่องภายในชุมชน

ส่วนคนไทยที่ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด สามารถดูแลจิตใจด้วยตนเองเบื้องต้น ดังนี้ 1. รับประทานอาหาร และพักผ่อนให้เพียงพอ 2. รู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง 3. สังเกตอารมณ์ตัวเองอย่างสม่ำเสมอ 4. หลีกเลี่ยงการรับข่าวสารที่มากเกินไป ไม่ส่งต่อภาพความรุนแรงต่าง ๆ และ 5. พูดคุยกับคนอื่นเพื่อระบายความรู้สึก เน้นการสร้างความเข้มแข็งทางใจ หากพบความผิดปกติของตนเองหรือคนใกล้ชิด ควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตหรือจิตแพทย์ ณ สถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อขอรับคำปรึกษาและการบำบัดรักษา หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 นอกจากนี้ ยังเปิดไลน์สายด่วนสุขภาพจิต 1323 สำหรับคนไทยในอิสราเอล เพื่อช่วยเหลือด้านจิตใจ