กสทช.-ค่ายมือถือ รื้อถอนสายสื่อสาร จัดระเบียบใหม่



สำนักงานกสทช. ดำเนินการการรื้อถอนสายสื่อสารโครงการทดลองวางโครงข่ายสายปลายทางเพียงรายเดียว (Single Last Mile) ซอยศุภราช 1

  • เพื่อลดจำนวนการพาดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าโดยเร่งด่วน
  • ปรับปรุงระบบสายสื่อสารเพื่อทัศนีภาพที่สวยงาม
  • ให้มีสายสื่อสารปลายทางเพียงรายเดียว

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)​ เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช. ได้ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง  จัดทำแผนบูรณาการการจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าในเส้นทางหลัก ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด โดยให้มีการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันเพื่อลดจำนวนการพาดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าโดยเร่งด่วน รวมทั้งปรับปรุงระบบสายสื่อสารของผู้ประกอบกิจการให้มีสายสื่อสารปลายทางเพียงรายเดียว (Single Last Mile) ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้ประกาศแผนการจัดระเบียบสายสื่อสาร พ.ศ. 2566- 2567 เรียบร้อยแล้ว โดยมีเส้นทางทดลองวางโครงข่ายสายปลายทางเพียงรายเดียว ซอยศุภราช 1ตั้งแต่ปากซอยศุภราช 1 ไปจนถึงปากซอยอินทามระ 4  (โครงการฯ) ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร  

ทั้งนี้สำนักงาน กสทช. ได้มีการประชุมติดตาม Single last mile ซอยศุภราช 1 ร่วมกับผู้แทนผู้ประกอบกิจการ กฟน. สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯ ที่ประชุมมีมติให้ NT เป็นผู้สร้างโครงข่ายสายปลายทาง เนื่องจากเป็นหน่วยงานของรัฐที่สามารถใช้พื้นที่ของกรุงเทพมหานครได้ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งหลักการการให้บริการโครงข่ายสายปลายทางเพียงรายเดียว คือ ถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนผู้ใช้งานจะมีเปลี่ยนผู้ให้บริการกี่รายก็ตามโครงข่ายจะยังคงมีเพียงเส้นเดียว ในซอยศุภราช 1 มีผู้ให้บริการปลายทาง จำนวน 4 ราย ได้แก่ AWN 3BB TRUE และ NT 

“การดำเนินการจะมีกิจกรรมหลักๆ อาทิ 1. การสร้างโครงข่ายปลายทางให้ผู้เช่าโครงข่าย 2. การติดตั้งอุปกรณ์ของผู้เช่ากับผู้สร้างโครงข่าย 3. การตัดถ่ายลูกค้าจากโครงข่ายเดิมเข้ากับโครงข่ายใหม่ (จำนวนของผู้ใช้งานในบริเวณซอยศุภราช มีจำนวน 496 ราย) และ 4. ดำเนินการรื้อถอนสายสื่อสาร ปัจจุบันผู้ประกอบกิจการได้ตัดถ่ายลูกค้าเสร็จเรียบร้อย อยู่ระหว่างกระบวนการรื้อถอนสายสื่อสาร เมื่อรื้อถอนสายสื่อสารที่ไม่ใช้งานออกให้เหลือเฉพาะสายที่ใช้งาน จะทำให้สายเหลือน้อยส่วนที่เป็นสายปลายทางจะเหลือเพียง 1 เส้น เท่านั้น ซึ่งจะทำให้ทัศนียภาพสวยงาม ประชาชนได้รับความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน  ซึ่งการดำเนินการทดลองวางโครงข่ายสายปลายทางเพียงรายเดียว จะเป็นตัวอย่างในการที่จะดำเนินการทดลองกับเส้นทางอื่นๆ ต่อไป และการดำเนินการในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนทำให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ทุกประการ”