กลุ่มม็อบ 70 ชีวิตบุกคลัง! ยื่นหนังสือร้องค้านตัดสิทธิ์ “เบี้ยผู้สูงอายุ”

ม็อบหลากเครือข่ายบุกคลัง ค้านตัดสิทธิ์เบี้ยผู้สูงอายุ พร้อมเปิด 5 ข้อเรียกร้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (17 ส.ค.66) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่บริเวณหน้ากระทรวงการคลัง ได้มีกลุ่มเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ, เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) และเครือข่ายสลัมสี่ภาด ประมาณ 70 คน ได้เดินทางมาเรียกร้องคัดค้านการตัดสิทธิเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผู้มีฐานะร่ำรวย จากการประกาศปรับระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ.ศ.2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการคลังมารอรับหนังสือร้องเรียนดังกล่าว

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมยืนยันว่า จะต้องทำการยื่นหนังสือกับมือ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลังเท่านั้น แต่ทางด้านปลัดกระทรวงการคลังไม่ได้ออกมาตาคำเรียกร้อง ทางผู้ชุมนุมจึงไม่ยื่นหนังสือ แต่ใช้วิธีพับหนังสือเรียกร้องเป็นจรวด แล้วร่อนผ่านรั้วกระทรวงการคลังแทน หลังจากนั้นเวลา 10.45 น. ผู้ชุมนุมได้จัดเตรียมตั้งขบวน เพื่อเคลื่อนไปยังเป้าหมายต่อไป คือ กระทรวงมหาดไทย และจากนั้นช่วงบ่ายก็จะไปที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและสวัสดิการมนุษย์ (พม.) เป็นลำดับสุดท้าย

สำหรับ หนังสือเรียกร้อง ระบุว่า 1. ขอให้กระทรวงมหาดไทย ยกเลิกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566 แล้วกลับไปใช้ระเบียบเดิม ซึ่งคงสิทธิถ้วนหน้าโดยไม่ต้องพิสูจน์ความยากจน และตัดสิทธิการรับสวัสดิการซ้ำช้อนไว้แล้ว

2. คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ต้องออกมาปกป้องสิทธิของผู้สูงอายุทุกคน ไม่ให้ถูกลิดรอน ต่ำลงไปกว่าที่เคยเป็นด้วยการไม่สนองตอบต่อหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566

3. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยกระดับการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพให้เป็นบำนาญถ้วนหน้า ด้วยการออกเป็นกฎหมายรองรับ ไม่ใช่ใช้หลักนโยบายการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามมติคณะรัฐมนตรี

4. กระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ของตัวเองในการศึกษาตัดงบรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และหาแหล่งรายได้ใหม่ ๆ เข้ารัฐ เพื่อเพิ่มรายได้มาเติมเต็มการจัดสวัสดิการให้กับประชาชนแบบถ้วนหน้า เช่น การศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง ภาษีลากลอย ภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้น เป็นต้น

5.รัฐบาลใหม่ ต้องผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเรื่องรัฐสวัสดิการเป็นสิทธิแบบถ้วนหน้าบรรจุในกฎหมายให้ชัดเจน