กระทรวงอุตฯ สั่งสมอ. ออก 600 มาตรฐานยกระดับ EV-หุ่นยนต์-AI

พิมพ์ภัทรา แคดเมียม
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

“พิมพ์ภัทรา” สั่ง สมอ. ออก 600 มาตรฐานยกระดับภาคอุตสาหกรรม ดันกลุ่มที่มีศักยภาพ ทั้ง EV หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และ AI พร้อมถกแผนรับมือน้ำท่วม ผนึกรัฐ-เอกชนออกมาตรการช่วยเหลือ

  • ดันกลุ่มที่มีศักยภาพ ทั้ง EV หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และ AI
  • พร้อมถกแผนรับมือน้ำท่วม
  • ผนึกรัฐ-เอกชนออกมาตรการช่วยเหลือ

วันที่ 14 ต.ค. 2566 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้เร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำมาตรฐานในปีงบประมาณ 2567 ที่ตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยตามนโยบายรัฐบาล และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะมาตรฐานในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ เน้นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า(EV) อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมชีวภาพ ปัญญาประดิษฐ์(AI) ฮาลาล และซอฟต์พาวเวอร์(Soft power) ซึ่งคาดว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถนำเม็ดเงินมาสู่ภาคอุตสาหกรรมของไทยได้เป็นอย่างดี โดยตั้งเป้าหมายไว้ 600 มาตรฐาน

ด้าน นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า สมอ. เตรียมขออนุมัติแผนการกำหนดมาตรฐานในปีงบประมาณ 2567 รวม 600 มาตรฐาน ในการประชุมบอร์ด สมอ. ในเดือนต.ค.นี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566 ที่สามารถจัดทำมาตรฐานได้ 478 มาตรฐาน ทั้งนี้ ให้เร่งผลักดันมาตรฐานที่เป็นเรื่องเร่งด่วนตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมก่อน เช่น มาตรฐานสถานีชาร์จรถไฟฟ้า สาธารณะ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มาตรฐานอาหารฮาลาล AI เครื่องมือแพทย์ BCG และหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นต้น

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวถึงสถานการณ์ปริมาณฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำในหลายพื้นที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเฉียบพลันในพื้นที่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เบื้องต้นพบว่ามีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ อุบลราชธานี เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ และพระนครศรีอยุธยา โดยขณะนี้ศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤตกระทรวงอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างการประเมินความเสียหายและสำรวจข้อมูลผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้หน่วยงานสังกัดในทุกภูมิภาค เร่งสำรวจและรายงานความเสียหายอย่างต่อเนื่อง เพื่อการประเมินสถานการณ์ และจัดมาตรการความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว ผ่านการดำเนินงานโครงการอุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยพี่น้องชาวไทย โดยให้การสนับสนุนทั้งในด้านการพักชำระหนี้ การเฝ้าระวัง การฟื้นฟูโรงงานในพื้นที่เสี่ยง การซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และการส่งมอบถุง MIND ซึ่งเป็นถุงยังชีพจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ

ด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับมาตรการเร่งด่วนที่กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมการ ประกอบด้วย การพักชำระหนี้ สำหรับลูกหนี้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เงินทุนหมุนเวียนดีพร้อมเปย์ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสินเชื่อของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ, การเฝ้าระวังการรั่วไหลของสารเคมีอันตราย และกากอุตสาหกรรม พร้อมการจัดเตรียมแผนรักษาความปลอดภัยอื่น ๆ ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติ

รวมถึงการให้บริการการตรวจประเมิน และคำปรึกษาแนะนำการบริหารจัดการในโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งแบบลงพื้นที่ (Onsite) และระบบทางไกล (Remote Assessment) รวมถึงการซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ โดยมีการจัดเตรียมน้ำมันเครื่องสำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จำนวน 2,000 ลิตร