กรมเจ้าท่า เร่งเต็มสูบพัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา

กรมเจ้าท่า ลุยต่อเนื่องปรับปรุงท่าเรือโดยสาร เผยตอนนี้ดำเนินการไปแล้วกว่า 10 แห่ง

  • ส่วนการพัฒนาท่าเรือให้เป็น Smart Pier ตั้งเป้าจะพัฒนาให้ได้ปีละ 3-4 ท่า
  • จากทั้งหมด 29 ท่าเรือ ขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 13 -14 ท่า
  • เผยท่าเรือ “พระราม 7-ท่าเตียน-ท่าเกียกกาย” จ่อแล้วเสร็จเพิ่มในปีนี้

นายกริชเพชร ชัยช่วย ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยความคืบหน้าโครงการการพัฒนาปรับปรุงท่าเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เพื่อประชาชนผู้สัญจรทางน้ำจะได้รับความสะดวกสบาย เชื่อมต่อระบบ ล้อ ราง เรือ ได้อย่างสะดวกและทันสมัยว่า ภายหลังจากการเปิดท่าเรือราชินี – บางโพ ให้กับประชาชนในต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ในปีนี้ กรมเจ้าท่าจะเดินหน้าปรับปรุงท่าเทียบเรือ โป๊ะเทียบเรือ ซึ่งขณะนี้ ได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 10 แห่ง ขณะที่การพัฒนาท่าเรือให้เป็น Smart Pier กรมเจ้าท่า ตั้งเป้าหมายจะพัฒนาให้ได้ปีละ 3-4 ท่า จากทั้งหมด 29 ท่าเรือ โดยขณะนี้ ได้ดำเนินการไปแล้ว 13 -14 ท่า ก็จะเร่งรัดดำเนินการไปจนครบทั้งหมด

ทั้งนี้ สำหรับท่าเรือที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 มีทั้งหมด 3 ท่าเรือ ได้แก่ 1.ท่าเรือพระราม7 2.ท่าเรือท่าเตียน และ 3. ท่าเรือเกียกกาย เพื่อให้สามารถทันเปิดใช้บริการสำหรับประชาชน พร้อมเน้นย้ำถึงความปลอดภัยโครงสร้างท่าเรืออย่างรอบคอบ รวมถึงความสะอาดของท่าเรือเมื่อแล้วเสร็จ เพื่อเกิดภาพลักษณ์ที่ดีและมีความสวยงามแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว อันจะเป็นการส่งเสริมการให้บริการขนส่งสาธารณะทางน้ำเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ การพัฒนาท่าเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 29 ท่า จะช่วยลดปัญหาการคับคั่งของการจราจรทางบก ลดระยะเวลาในการเดินทาง เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารทางเรือและทางบก ช่วยเพิ่มศักยภาพในการโดยสารเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สามารถเชื่อมต่อระบบ รถ ราง เรือ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งผลให้ประชาชนที่ใช้บริการด้านคมนาคมได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ระบบ Smart Pier ยังมีระบบแนะนำเส้นทางการเชื่อมต่อรถโดยสาร ทางลาดคนพิการ และห้องน้ำอัจฉริยะที่ทั้งสะอาด และสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีจุดบริการชาร์จแบตเตอรี่มือถือ และ Free Wi-Fi ด้วยแนวคิดท่าเรือที่ไม่ใช่เพื่อการเดินทางเพียงอย่างเดียว แต่บุคคลทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยทำเป็นท่าเรือระบบปิดนั้น ในเรื่องนี้ ได้นำเสนอข้อมูลให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว โดยขั้นตอนต่อไป กระทรวงคมนาคมจะนำเข้าเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี อีกครั้ง

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กรมเจ้าท่ามีแผนพัฒนายกระดับท่าเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยาเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 29 แห่ง ระหว่างปี พ.ศ.2562 – 2567 เพื่อพัฒนายกระดับท่าเรือให้มีความสวยงาม ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ ตลอดจนนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการควบคุมและบริหารจัดการบนท่าเรือ โดยความคืบหน้าปัจจุบันแบ่งเป็นท่าเรือ ที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือกรมเจ้าท่า, ท่าเรือสะพานพุทธ, ท่าเรือนนทบุรี , ท่าเรือท่าช้าง และท่าเรือสาทร