

- เผยเหตุส่วนใหญ่ไม่ประเมินความเสี่ยง ไม่ใส่หน้ากากในบ้าน
- ไม่เว้นระยะห่าง ไม่แยกรับประทานอาหารกิน ทำให้แพร่เชื้อไม่รู้ตัว
- แนะวิธีดูแลเด็กติดเชื้อ ส่วนใหญ่มีไข้ ระวังไข้สูงชักช่วง 1-2 วันแรก
นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงการดูแลป้องกันเมื่อเด็กปฐมวัยติดเชื้อโควิด-19 ว่า ขณะนี้แนวโน้มการติดเชื้อโควิด-19 กำลังสูงขึ้น ซึ่งในกลุ่มเด็กปฐมวัยอายุ 0-5 ปีก็พบการติดเชื้อสูงตามกลุ่มวัยอื่นๆ เช่นกันเฉพาะช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เด็กอายุ 0-5 ปี ติดเชื้อถึงสัปดาห์ละ 6,000 กว่าราย ซึ่งตั้งแต่ระลอกล่าสุดจากสายพันธุ์โอมิครอนช่วง ม.ค. การติดเชื้อจะอยู่ที่ประมาณสัปดาห์ละ 1,000 กว่าราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อดูย้อนหลังจากระลอก เม.ย. 2564 – 17 ก.พ. 2565 มีการติดเชื้อสะสม 107,059 ราย คิดเป็น 5% จากการติดเชื้อทั้งหมดทุกกลุ่มกว่า 2 ล้านราย พบเด็กเสียชีวิต 29 ราย จากการมีโรคประจำตัว ส่วนช่วงอายุ 0-1 ปี 2 ปี 3 ปี 4 ปี และ 5 ปี มีการติดเชื้อประมาณ 20,000 ราย ไม่ได้แตกต่างกันมาก
สำหรับสาเหตุการติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กปฐทมวัย คือการสัมผัสใกล้ชิดกันในครอบครัวที่รับเชื้อมากจากนอกบ้านและเรายังไม่มีวัคซีนสำหรับเด็กอายุ 0-5 ปี จึงต้องใส่ใจสุขอนามัยในเด็กเล็ก ซึ่งกรมอนามัยสำรวจอนามัยอีเวนต์โพล ประเด็นความกังวลและพฤติกรรมการป้องกันโรคโควิด-19 ในบ้าน จำนวน 6,087 คน ซึ่งตามคำแนะนำควรจะประเมินความเสี่ยงตนเองเมื่อกลับมาจากทำงานนอกบ้าน เพื่อป้องกันกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ โรคประจำตัว สตรีมีครรภ์ และเด็กเล็ก ผ่าน “ไทยเซฟไทย” แต่พบว่ามีคนที่สนใจประเมินความเสี่ยงคือ 28% ไม่ถึง 1 ใน 3 จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประมาทเพราะไม่มีการประเมินความเสี่ยงที่อาจรับเชื้อโดยไม่มีอาการและนำมาติดลูกหลานในบ้าน
“แนะนำว่าในบ้านถ้ามีกลุ่มเปราะบาง ควรมีการประเมินตนเอง หากพบว่าเสี่ยงสูง ควรตรวจด้วย ATK ว่าติดเชื้อหรือไม่ เพราะอาจไม่มีอาการ ส่วนการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่พบว่าทำได้ต่ำกว่า 50% เช่น การใช้อุปกรณ์ส่วนตัวแยกกับผู้อื่น ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่จับร่วมกัน ไม่กินอาหารร่วมกัน และที่แทบทำไม่ได้เลย คือการแยกใช้ห้องน่ำ ก็เข้าใจว่ามีห้องน้ำเดียวในบางบ้าน จึงจำเป็นที่จะต้องระมัดระวังในจุดสัมผัสและทำความสะอาดบ่อยๆ” นพ.เอกชัย กล่าว