กรมวิชาการเกษตร ถ่ายทอดเทคโนโลยี ปลูกกะหล่ำปลีลดใช้สารเคมี

กรมวิชาการเกษตร เผย แปลงต้นแบบ ปลูกกะหล่ำปลีที่มีคุณภาพ ลดต้นทุน ผลผลิต ปลอดภัย ปลอดสารเคมี

  • ปุ๋ยเคมีปริมาณมากส่งผลให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
  • หากมีสารตกค้างจะเป็นอันตรายผู้บริโภค
  • สารเคมีเกิดการปนเปื้อนสู่สภาพแวดล้อม

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า พืชตระกูลกะหล่ำ เป็นพืชผักที่สำคัญทางเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง มีพื้นที่ปลูกจำนวน 34 จังหวัดทั่วประเทศ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 69,108 ไร่ให้ผลผลิตรวม 248,440 ตัน โดยมีพื้นที่ปลูกมากในอำเภอหล่มเก่า และอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งมีอากาศหนาวเย็นเหมาะสมกับการเจริญเติบโต มีพื้นที่ปลูก 19,256 ไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 1.5 แสนตัน อย่างไรก็ตามการปลูกพืชตระกูลกะหล่ำมีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมีปริมาณมากส่งผลให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและหากมีสารตกค้างจะเป็นอันตรายผู้บริโภค อีกทั้งยังเกิดการปนเปื้อนสู่สภาพแวดล้อมอีกด้วย

ศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ กรมวิชาการเกษตร จึงได้ดำเนินงานวิจัยการลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในการผลิตกะหล่ำปลีโดยใช้วิธีผสมผสานในโรงเรือนและสภาพแปลง เพื่อศึกษาวิธีการลดการใช้สารเคมีในพืชดังกล่าว โดยการใช้สารไคโตซานเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช ส่งผลให้พืชแข็งแรงต่อการเข้าทำลายของโรคและแมลงได้มากขึ้น รวมถึงการใช้ชีวภัณฑ์ของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงสายพันธุ์ไทย ซึ่งมีศักยภาพในการควบคุมแมลงได้หลายชนิด เชื้อแบคทีเรีย Bacillus thuringiensis (Bt) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์สามารถนำมาใช้กำจัดแมลงศัตรูพืช เนื่องจากมีความเฉพาะเจาะจงสูงในการทำลายเฉพาะแมลงเป้าหมายเท่านั้น

ทั้งนี้การดำเนินการลดการใช้สารเคมีในการปลูกกะหล่ำปลีตามเทคโนโลยีกรมวิชาการเกษตรทั้งในโรงเรือนและสภาพแปลงปลูกของเกษตรกร คือ ใช้สารไคโตซานอัตรา 200 ppm/น้ำ 20 ลิตร เชื้อชีวภัณฑ์ BT 80-100 อัตรา 80-100 กรัม/น้ำ 20 ลิตร และใช้กับดักกาวดักแมลง ขนาด 15X 20 ซม. จำนวน 200 ป้าย/ 1 ไร่ ซึ่งเป็นวิธีการที่เหมาะสมสำหรับการลดการใช้สารเคมีในการผลิตกะหล่ำปลีในโรงเรือนและสภาพแปลง เมื่อนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาการทดสอบในแปลงเกษตรกรจำนวน 10 แปลง เพื่อเปรียบเทียบวิธีที่เกษตรกรใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชกับเทคโนโลยีลดการใช้สารเคมีในการควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืชที่เหมาะสมของกรมวิชาการเกษตร พบว่าเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรทำให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตที่ลดลงและลดการใช้สารเคมีกำจัดโรคและแมลง โดยเปรียบเทียบการผลิตกระกล่ำปลีในพื้นที่ 0.5 ไร่พบว่าการใช้เทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรมีต้นทุน 6,900 บาท รายได้ 23,400 บาท ในขณะที่กรรมวิธีของเกษตรกรมีต้นทุน 8,900 บาท รายได้ 21,250 บาท”

ศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ ได้จัดทำโครงการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ได้จากการวิจัยมาจัดอบรมเกษตรกร หลักสูตร “การจัดการโรคและแมลงศัตรูพืชตระกูลกะหล่ำเพื่อลดการใช้สารเคมีในพื้นที่สูง” เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรให้กับเกษตรผู้ปลูกพืชตระกูลกะหล่ำในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มรายได้และลดต้นทุนการผลิต สร้างชุมชนต้นแบบในการผลิตพืชตระกูลกะหล่ำของเกษตรกรของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยดำเนินการในกลุ่มเป้าหมาย คือเกษตรกร อ.เขาค้อ และ ต.วังบาล (ทับเบิก) อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ จำนวน 100 ราย และสร้างแปลงต้นแบบจำนวน 5 แปลง

“ก่อนที่ศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์จะนำเทคโนโลยีการจัดการโรคและแมลงศัตรูพืชตระกูลกะหล่ำเพื่อลดการใช้สารเคมีในพื้นที่สูงมาถ่ายทอดในพื้นที่  เกษตรกรเชื่อว่าการปลูกกะหล่ำปลีต้องใช้สารเคมีเท่านั้นจึงจะสามารถป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูในกะหล่ำปลีได้ แต่หลังจากถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวแล้วพบว่าในแปลงต้นแบบสามารถปลูกกะหล่ำปลีที่มีคุณภาพได้เทียบเท่าการปลูกกะหล่ำปลีโดยใช้สารเคมี แต่สามารถลดต้นทุน และทำให้ผลผลิตมีความปลอดภัยจากการใช้สารเคมี ทำให้เกษตรกรขอให้เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์เป็นวิทยากรให้คำแนะนำการใช้เทคโนโลยีการจัดการโรคและแมลงศัตรูพืชตระกูลกะหล่ำโดยใช้สารชีวภัณฑ์ของกรมวิชาการเกษตรควบคู่กับการใช้กับดักกาวเหนียว ซึ่งสามารถป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืชได้เช่นเดียวกับการใช้สารเคมี”