กรมการแพทย์ แนะผู้ประสบเหตุไฟไหม้ย่านกิ่งแก้วสังเกตอาการ หากไอ-เจ็บหน้าอกรีบไปพบแพทย์



วันที่ 6 กรกฎาคม 2564นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานแห่งหนึ่งในท้ายซอยกิ่งแก้ว 21 ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการสูดดมควันไฟ สารเคมี และบาดแผลไฟไหม้

ทั้งนี้ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชานี มีความห่วงใยประชาชนผู้ประสบเหตุ รวมทั้งเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในที่เกิดเหตุเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากข้อมูลทั่วไปด้านพิษวิทยาและสิ่งแวดล้อมพบว่าวัตถุดิบประเภทโฟม EPS หรือ Expandable Polystyrene เมื่อถูกไฟไหม้จะเกิดมลพิษจากสารสไตรีน (styrene) ผู้ที่สัมผัสสารพิษดังกล่าว จะมีอาการที่สามารถสังเกตได้ 2 ลักษณะ คืออาการเฉียบพลัน และอาการเรื้อรัง ดังนี้

อาการเฉียบพลัน จะมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ปวดศีรษะ ง่วงซึม อ่อนเพลีย ปวดท้อง เบื่ออาหาร ระคายเคืองผิวหนัง ดวงตา และ ระบบทางเดินหายใจ การสูดเข้าไปจะมีอาการไอ และหายใจลำบาก ชัก หัวใจเต้นแรง และอาจเสียชีวิตได้

อาการเรื้อรัง การได้รับสารสไตรีน (Styrene) เป็นเวลานาน จะ มีอันตรายต่อตับไต ระบบเลือด ในขณะที่เบนซิน (Benzene) จัดเป็นพิษสารก่อมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือมีผลทำให้เป็นโรคโลหิตจาง

นอกจากนี้ ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้หรือสลายตัวเนื่องจากความร้อนของสไตรีน จะส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจน และเกิดอันตรายต่อร่างกาย

ดังนั้นจึงขอแนะนำการปฏิบัติตนเบื้องต้นเพื่อความปลอดภัยสำหรับประชาชนคือ ให้ปฏิบัติตามคำสั่งตามประกาศของทางการอย่างเคร่งครัด ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตที่มีมลพิษในอากาศสูงโดยมีค่าสารพิษเกินกว่าปกติหลายเท่า ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพของเป็นอย่างมาก หากยังอยู่ในบริเวณที่มีการระบุค่ามลพิษทางอากาศสูง ให้ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด ถ้าอากาศร้อนให้ใช้เครื่องปรับอากาศหรือพัดลมเพื่อบรรเทา พร้อมด้วยเครื่องฟอกอากาศ (ถ้ามี) อย่าเปิดประตูหรือหน้าต่าง รวมถึงงดกิจกรรมภายนอกอาคาร สถานที่ หรือหากจำเป็นควรใส่หน้ากากชนิดมีไส้กรองหรืออย่างน้อยใช้หน้ากาก N 95 ใส่หน้ากากว่ายน้ำ เฟสชิลด์ หรือแว่นตาเพื่อป้องกันอาการระคายเคืองตา สวมหมวก ถุงมือ ปลอกแขน หรือชุดที่สามารถปกป้องผิวหนังได้

พร้อมลดเวลาการทำกิจกรรมนอกสถานที่ให้ได้มากที่สุด ถ้ามีโรคประจำตัว หรือมีใครในครอบครัวมีโรคประจำตัวให้แจ้งให้แพทย์ทราบด้วย โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ โรคหอบหืด โรคปอด โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ถ้ามีอาการแสบตา แสบคอ แสบจมูกมาก หรือ ไอ หอบ เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก ให้รีบไปพบแพทย์ ห้ามสูบบุหรี่เด็ดขาด และหาพาหนะที่ใกล้ที่สุดที่จะไปหาความช่วยเหลือได้ มีเบอร์โทรศัพท์หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด หลังเหตุการณ์ให้มารับการตรวจสุขภาพ และติดตามการตรวจสุขภาพเป็นระยะตามที่แพทย์สั่ง