กรมการค้าภายในแจ้งความเอาผิดโฆษกกรมศุลแล้ว

  • ข้อหาหมิ่นประมาทและผิดพ.ร.บ.คอม
  • ยันอนุญาตให้ส่งออกแล้วแค่12.7 ล้านชิ้นจากที่ขอ53.6 ล้านชิ้น
  • ข่าวดีกำลังผลิตเพิ่มเป็นวันละ 1.56ล้านชิ้น

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) เปิดเผยว่า กรมได้แจ้งความดำเนินคดีกับโฆษกกรมศุลกากร ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) แล้วเมื่อเช้าวันที่ 12 มี.ค.63 ในข้อหาหมิ่นประมาทและเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ หลังให้ข่าวกระทรวงพาณิชย์อนุญาตให้ส่งออกหน้ากากอนามัยรวม 330 ตัน ทำให้กรมได้รับความเสียหาย คนทั้งประเทศรับรู้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง แม้กรมศุลกากรจะชี้แจงแก้ไขข้อมูลใหม่ในระยะต่อมา แต่ก็ไม่ได้ทำให้กรมไม่ได้รับความเสียหาย

“ผมยืนยันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ผมเป็นลูกหม้อกรมการค้าภายใน ทำงานบรรจุที่นี่ ไม่ต้องการให้ใครมาทำให้เสียหาย ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยมีปัญหากับโฆษกกรมศุลกากรเป็นการส่วนตัว แต่ในเมื่อกล่าวหามา ก็ต้องไปแก้ข้อกล่าวหาเอง”นายวิชัยกล่าว

นายวิชัย กล่าต่อว่า การพิจารณาให้ส่งออกหน้ากากอนามัยนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว พาณิชย์ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลในประเทศให้เพียงพอก่อนเป็นลำดับแรก ถ้าไทยไม่พอใช้ ก็ไม่ให้ส่งออก แต่ที่มีการส่งออกในเดือนม.ค.63 เป็นช่วงก่อนที่หน้ากากอนามัยจะเป็นสินค้าควบคุม ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ไปห้ามไม่ได้ แต่หลังจากวันที่ 4 ก.พ.63 เมื่อประกาศเป็นสินค้าควบคุมแล้ว และมีมาตรการห้ามส่งออก ก็มีคณะอนุกรรมการ พิจารณาการอนุญาตส่งออก ซึ่งผลการพิจารณา ได้อนุญาตส่งออกรวม 12.7 ล้านชิ้น จากที่ขอมาทั้งหมด 53.6 ล้านชิ้น และที่ให้ส่งออกก็เป็นสเปกต์พิเศษ คือ ใช้ทางการแพทย์ และโรงงานอุตสาหกรรม เป็นสินค้าที่มีลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ เอามาใช้ในประเทศไม่ได้ และบางโรงงานได้รับการสางเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ต้องผลิตส่งออกทั้งหมด

“ถ้าเข้าเงื่อนไขตามนี้ ก็พิจารณาให้ส่งออก โดยคณะอนุกรรมการ พิจารณาไป 3 ครั้ง อนุญาตให้ 7 ราย ส่งออกได้ รวม 12.7 ล้านชิ้น ถ้าคิดเป็นตันก็ราวๆ 40 ตันเท่านั้น ส่งออกไปยังออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เนเธอแลนด์ ฟิลิปปินส์ และเยอรมนี ไม่ได้มากไปกว่านี้ ส่วนหน้ากากอนามัยแบบสีเขียว ไม่ได้อนุญาตให้ส่งออกเลย”นายวิชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีข่าวดี หลังจากที่ได้เข้าไปบริหารจัดการหน้ากากอนามัยทุกชิ้น ตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค.63 เพราะได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตสินค้าสเปกต์พิเศษให้ช่วยผลิตหน้ากากอนามัยที่ไทยจำเป็นต้องใช้ และมีหลายรายให้ความร่วมมือปรับไลน์การผลิต ทำให้ตัวเลขยอดรวมที่ผลิตได้ต่อวัน 1.2 ล้านชิ้น เพิ่มเป็น 1.56 ล้านชิ้น ซึ่งได้จัดสรรไปให้กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มขึ้นเป็น 800,000 ชิ้นต่อวัน

และหากต้องการเพิ่มก็จะลดสัดส่วนในส่วนของกรมฯ ลง ซึ่งปัจจุบันได้รับที่ 760,000 ชิ้น จะเร่งกระจายให้กับผู้ที่จำเป็นต้องใช้ เช่น การบินไทย การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ตรวจคนเข้าเมือง และประชาชนทั่วไปผ่านร้านธงฟ้า ร้านสะดวกซื้อต่างๆ มั่นใจว่าสถานการณ์หน้ากากอนามัยจะดีขึ้น หลังมียอดการผลิตเพิ่มขึ้น