กรมการค้าภายในชวนคนไทยกินหมูเพิ่ม

กรมการค้าภายใน จับมือสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กรมปศุสัตว์ รณรงค์บริโภคเนื้อหมู หลังเนื้อหมูล้นตลาด ดึงราคาร่วง หวังดูแลราคาให้เกษตรกร พร้อมขอห้าง งดจัดโปรลดราคดช่วงนี้ หวั่นกดราคาซื้อหมูมาขาย เดินหน้าช่วยเกษตรกรลดต้นทุนอาหารสัตว์

  • หลังพบผลผลิตส่วนเกินวันละ 8 พันตัวดึงราคาร่วง
  • หมูเป็นหน้าฟาร์มโลละ 67-68 บาท-เนื้อแดง 130 บาท
  • ลุยเชื่อมโยงอาหารสัตว์ราคาถูกช่วยลดต้นทุนเกษตรกร

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมได้ร่วมมือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กรมปศุสัตว์ รณรงค์ให้ผู้บริโภคช่วยกันบริโภคเนื้อสุกรเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยดูแลราคาให้กับผู้เลี้ยงหมู ที่ได้รับผลกระทบจากราคา เพราะขณะนี้ผลผลิตหมูมีชีวิตเกินความต้องการจากปกติจะมีหมูออกสู่ตลาดเฉลี่ยวันละ 50,000 ตัว แต่ขณะนี้อยู่ที่วันละ 58,000 ตัว จึงต้องหาทางเร่งระบายผลผลิตส่วนเกิน แม้ว่าในส่วนของกรมปศุสัตว์จะเร่งแก้ปัญหาตัดวงจรหมูด้วยการผลักดันให้ทำหมูหันไปแล้วส่วนหนึ่ง

ทั้งนี้ กรมยังได้ขอความร่วมมือไปยังห้างค้าส่งค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ให้งดการจัดโปรโมชันลดราคาเนื้อหมูในช่วงนี้ เพราะราคาถูกอยู่แล้ว โดยราคาเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 130 บาท และหากนำเนื้อหมูมาจัดโปรโมชัน เกรงว่าจะไปกดราคารับซื้อหมู และกระทบกับเกษตรกร

สำหรับสถานการณ์ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มปัจจุบันอยู่ที่ กก.ละ 67-68 บาท ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยง ยังคงขายได้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประเมินว่าอยู่ที่ กก.ละ 72 บาท โดยการตัดวงจรหมู จะช่วยดึงราคาให้สูงขึ้น และกรมยังจะเข้าไปช่วยดูแลในด้านต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะราคาอาหารสัตว์ เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้

“ สาเหตุที่ราคาหมูลดลงเป็นเพราะช่วงที่ผ่านมา ผู้เลี้ยงหมูเร่งเพิ่มกำลังกาผลิต จากช่วงที่ผ่านมาเกิดโรคระบาดในไทย จนทำให้ผลผลิตลดลงและผลักดันให้ราคาสูงขึ้น จึงต้องเร่งระดมเลี้ยง และขณะนี้ ผลผลิตก็ออกสู่ตลาดเกินความต้องการ จึงต้องดึงผลผลิตส่วนเกินออก”

ด้านร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมได้หารือกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เพื่อติดตามสถานการณ์ราคาวัตถุดิบและอาหารสัตว์ พบว่า แนวโน้มราคาปรับตัวลดลงตามต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.67 กก.ละ 10.26 บาท จากเฉลี่ยทั้งปี 66 กก.ละ 12.67 บาท กากถั่วเหลือง ม.ค.-ก.พ.67 กก.ละ 13.92 บาท จากเฉลี่ยปี 66 กก.ละ 16.84 บาท ข้าวสาลี กก.ละ 7.74 บาท ปี 66 กก.ละ 8.23 บาท ปลาป่น กก.ละ 32 บาท ปี 66 กก.ละ 36.61 บาท

“กรมจะติดตามสถานการณ์ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่างใกล้ชิด และหากปรับลดลงต่อเนื่อง ก็จะคุยกับผู้ผลิตให้ปรับลดราคาลงมาให้สอดคล้องกัน ซึ่งเท่าที่ติดตามดู ข้าวโพดทรงตัว ข้าวสาลีลดลง กากถั่วเหลือง ลดลง และคาดว่าจะลดลงอีก เพราะอาร์เจนตินา และบราซิล ผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก เพิ่มพื้นที่เพาะปลูก ส่วนปลาป่น แม้ทรงตัวในระดับสูง แต่ก็ถูกกว่าปีก่อน ขณะที่ราคาอาหารสัตว์ตอนนี้ เทียบกับปีที่แล้ว ทยอยปรับลดราคาลงมาแล้ว”

สำหรับโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ในการลดต้นทุนราคาอาหารสัตว์ จากการเชื่อมโยงเกษตรกรผู้เลี้ยงกับโรงงานอาหารสัตว์ ซึ่งได้ดำเนินการไปเมื่อปีที่แล้ว หากเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร มีความต้องการ ก็พร้อมที่การเชื่อมโยงให้ต่อไป