กฟผ. เดินหน้าเชิดหนุนพลังงานหมุนเวียน

  • ใช้น้ำท้ายเขื่อนของกรมชลประทาน
  • ให้เกิดประโยชน์สูงสุดหลังการใช้น้ำ
  • โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนคลองตรอนพร้อมจ่ายไฟ

 นายทิเดช เอี่ยมสาย ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ดำเนินการเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนคลองตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนชลประทาน ที่เป็นการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามยุทธศาสตร์การผลักดันส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ใช้พลังน้ำในการผลิตไฟฟ้า

ทิเดช เอี่ยมสาย

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนคลองตรอน เป็นโรงไฟฟ้าที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างกรมชลประทานและ กฟผ. ซึ่งเป็นโครงการลำดับที่ 9 ในโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนชลประทานที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว ตั้งอยู่ท้ายเขื่อนคลองตรอน อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ มีขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 1.25 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง รวม 2.5 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 11.83 ล้านหน่วย (กิโลวัตต์-ชั่วโมง) ช่วยเสริมความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนชลประทานนั้น มีต้นทุนการผลิตถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนชนิดอื่น ๆ ซึ่งมีกระบวนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำ โดยนำน้ำที่เขื่อนจะต้องระบายอยู่แล้วมาผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าก่อนระบายลงสู่พื้นที่ท้ายน้ำตามเดิม นับเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่า เกิดความมั่นคงทางพลังงาน และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

  “ กฟผ. ได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนชลประทานแล้วเสร็จจำนวน 9 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนแม่กลอง เขื่อนนเรศวร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนคลองตรอน รวมกำลังผลิตติดตั้ง 87.95 เมกกะวัตต์ และ กำลังก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์อีกหนึ่งแห่ง เพื่อเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนธ.ค. 2564″