กพท.ขอเป็นตัวกลางเกลี่ยเส้นทางบินในประเทศใหม่หนีโควิดหวังพยุงให้อยู่รอดก่อนตายทั้งฝูงบิน

กพท.หารือด่วน 9 สายการบินในประเทศวันพรุ่งนี้ ใครจะกลับมาบินไม่บิน มั่นใจมาไม่ครบ8สายการบิน พร้อมเป็นตัวกลางเกลี่ยแบ่งเส้นทางบินในประเทศให้ลงตัว-ห้ามฟันราคา หวังพยุงให้อยู่รอดก่อนตายทั้งฝูง ด้านไทยสมายล์ ขอเลื่อนหยุดบริการออกจากไปก่อนถึงสิ้นเดือน พ.ค.

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้(23เมย) กพท.จะมีการประชุมร่วมกับผู้บริหาร 9 สายการบินในประเทศ เพื่อหารือถึงมาตรการที่เกี่ยวข้องหลังสายการบินบางส่วนเตรียมเปิดทำการบินเส้นทางในประเทศอีกครั้ง 1 พ.ค.นี้ ​โดยเบื้องต้นจะสำรวจว่ามีสายการบินใดบ้างที่จะเปิดให้บริการ และจะเปิดให้บริการในเส้นทางบินใด  พร้อมทั้งแจ้งมาตรการที่กำหนดให้สายการบินปฏิบัติ คือ ต้องเว้นระยะห่างของผู้โดยสาร แบบที่นั่ง เว้นที่นั่ง  , ผู้โดยสารต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง , และให้สายการบินยกเลิกการบริการอาหาร และ เครื่องดื่มบนเครื่องบิน  อย่างเด็ดขาด ในช่วงที่สถานการณ์โควิดยังไม่คลี่คลาด หรือยุติการระบาด 

นอกจากนั้นในการหารือที่สำคัญกับสายการบินในประเทศอีกประเด็นหนึ่งที่จะต้องเข้าไปหารือร่วมคือ การที่แต่ละสายการบินจะเข้ามาทำการบินในเส้นทางบินในประเทศช่วงนี้ที่การแพร่ระบาดยังมีอยู่ อาจจะส่งผลให้บางเส้นทางปริมาณผู้โดยสารอาจจะน้อยมาก หรือ บางเส้นทาง จำนวนมาก หรือบางเส้นทางอาจจะยังไม่สามารถเปิดทำการบินได้ เนื่องจากกพท. จะต้องออกกฎระเบียบที่เข้มงวดทำให้การเดินทางยากขึ้นกว่าแต่ก่อน ดังนั้น กพพ. จึงแนวคิด ที่จะเกลี่ย แบ่งเส้นทางบินที่จะให้สายการบินในประเทศบริการใหม่ในช่วงนี้ เช่น เส่้นทางหนึ่งหรือ ช่วงเวลาหนึ่ง อาจจะให้ สายการบินใดสายการบินหนึ่ง ทำการบิน จะไม่มีการเปิดกว้างให้ทุกสายการบินมาทำการบินแข่งขันกันเอง เพื่อให้ทุกสายการบินสามารถทำการบินและมีสภาพคล่องในช่วงที่กลับมาเปิดทำการบินอยู่ได้

ขณะเดียวกันจะขอความร่วมมือสายการบินในประเทศที่ในช่วงนี้ที่กลับมาทำการบิน ห้ามสายการบินส่งเสริมการตลาดเพื่อตัดราคากันเอง แม้ว่า เพดานการเก็บค่าโดยสารขั้นสูงของการคิดคำนวณราคาจะอยู่ที่ 9 บาท/กม. แต่ในทางปฎิบัติสายการบินในประเทศจะคำนวณค่าโดยสารเฉลี่ยที่ 4-5บาท/กม. เท่านั้น ในขณะที่เพดานขั้นต่ำไม่ได้กำหนด เพื่อให้แต่ละสายการบินที่กลับมาทำการบินสามารถบริหารจัดการอยู่ได้ มีสภาพคล่องกลับมาหมุนเวียน ขณะเดียวกันเมื่อกลับมาทำการบินต้องดำเนินการตามนโยบาย เว้นระยะห่างของผู้โดยสาร แบบที่นั่ง เว้นที่นั่ง ซึ่งในส่วนนี้ ราคาค่าโดยสารจะคำนวณอย่างไรเพื่อไม่ให้ต้องแบกรับภาระต้นทุน เนื่องจากขนส่งปริมาณจะได้น่้อยลงกว่าปกติที่ขาย จากเดิมที่เคยขายตั๋วได้ 100 %ในทุกที่นั่ง แต่ปัจจุบันในทางปฎิบัติจะสามารถขายตั๋วที่นั่งได้ไม่เต็มลำหรือหายไปกว่า 30-40%จากปริมาณที่นั่งทั้งหมด

นายจุฬา ระบุว่า สายการบินสามารถเปิดทำการบินภายในประเทศได้ เพราะไม่ได้มีข้อกำหนดให้หยุดบิน แต่ที่ผ่านมาด้วยผลกระทบจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด 19 ทำให้จำนวนผู้โดยสารลดน้อยลงจนไม่คุ้มที่จะทำการบิน  ส่วนมาตรการเยียวยาสายการบินนั้น ปัจจุบันสายการบินมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ ดังนั้น จึงต้องการให้รัฐบาลหาแหล่งเงินทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังว่าจะพิจารณาแนวทางช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตามขณะนี้ทางสายการบินไทยสมายล์ ได้ทำหนังสือมาเป็นทางการที่ กพท.ว่าจะขอหยุดทำการบินขยายจาก30 เมย ถึงสิ้นเดือน พ.ค.63นี้ ส่วนจะกลับมาทำการบิน เมื่อไหร่อย่างไร จะแจ้งให้ กพท. รับทราบอีกครั้ง