กทพ.ลุยปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ รองรับการบริการประชาชน-ยันไม่มีปรับลด ปลดพนักงาน

  • นำเทคโนโลยีมาเสริมความแกร่ง เกลี่ยคนให้เหมาะกับงาน
  • ส่วนพนักงานเก็บเงินตามทางด่วนกว่า 3 พันคน ปรับมาเป็นพนักงานออฟฟิศ
  • เพิ่มตำแหน่งรองผู้ว่า กทพ. 5 ตำแหน่งเป็น 7 ตำแหน่ง เพิ่มฝ่ายบริหารทรัพย์สิน-ไอที

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กทพ. เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีมติให้ กทพ. ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ รวมถึง บริหารจัดกำลังพนักงานเพื่อรองรับโครงสร้างใหม่ ให้เหมาะกับการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กรในอนาคต รองรับการบริการประชาชน โดยเฉพาะการนำระบบการจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-Flowมาใช้ โดยโครงสร้างใหม่จะมีการเพิ่มตำแหน่งรองผู้ว่า กทพ.จากเดิม 5 ตำแหน่ง เพิ่มอีก 2 ตำแหน่งเป็น 7 ตำแหน่ง คือรองบริหารฝ่ายทรัพย์สิน และ รองฝ่ายเทคโนโลยี(ไอที)และยังคงตำแหน่งที่ปรึกษษผู็ว่าการ กทพ. 1 ตำแหน่ง และ ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่า กทพ. 1 ตำแหน่งเช่นเดิม ทั้งนี้การปรับโครงสร้างองค์กรดังกล่าวเพื่อรองรับ กับภารกิจที่ กทพ. จะต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ในส่วนของโครงสร้างองค์กรเดิม กทพ. จะมีพนักงานรวมกว่า 2,500 คน และมีเจ้าหน้าที่พนักงานเก็บค่าผ่านทางอีกกว่า 3,000 คน และเมื่อมีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ กทพ. จะรวมพนักงานเก็บเงินตามด่านมาเป็นพนักงานออฟฟิศ โดยจะมีการฝึกอบรม เพิ่มทักษะ ความสามารถ ให้เหมาะกับวุฒิที่แต่ละคนจบมา และไปอยู่แผนกที่มีความถนัด ซึ่งจะทำให้โครงสร้างองค์กร พนักงาน กทพ. จะมีทั้งสิ้น 5,535 อัตรา และมีลูกจ้างอีกกว่า 729 อัตรา

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ กทพ. จะมีต้นทุนค่าใช้งานที่เป็นเงินเดือน พนักงานกว่า 35-40%ของต้นทุนบริหารจัดการทั้งหมด หากมีการปรับโครงสร้าง จะลดต้นทุนด้านนี้ลงไป และไม่มีต้นทุนเพิ่มด้านบุคลากร เนื่องจากตำแหน่งที่เพิ่มจะเป็นการยุบจากตำแหน่งที่มีหน้าที่รับผิดชอบเดิม หรือ ใกล้เคียงมาตำแหน่งใหม่ โดยโอนโครงสร้างเงินเดือนเดิมมาติดตัวกับตำแหน่งใหม่ด้วย ซึ่งการปรับจัดพนักงานใหม่ยืนยันว่าจะไม่มีการปรับลดพนักงานแต่อย่างใด

สำหรับสาเหตุที่ต้องปรับเพิ่มตำแหน่ง รองผู้ว่าการ กทพ. ในส่วนการบริหารทรัพย์สินนั้น เพื่อรองรับการดำเนินการโครงการใหม่ๆในอนาคตของ กทพ. ซึ่งนโยบายของกระทรวงคมนาคม โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้ให้นโยบายว่า หากต้องมีการเวนคืนที่ดินเพื่อมาสร้างทาง จะต้องนำพื้นที่มาต่อยอด นอกจากการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางแล้ว จะต้องมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ข้างทางด้วย ซึ่งรองฝ่ายทรัพย์สินจะเข้ามาดูแล และ บริหารจัดการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้องค์กร ซึ่งรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์จะเป็นส่วนหนึ่งที่ กทพ.จะนำมาเป็นงบประมาณชดเชย เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้ทางเสียค่าบริการที่ถูกลงในอนาคต ส่วนรองผู้ว่า กทพ. ฝ่ายเทคโนโลยี จะเข้ามาดูแลระบบไอทีทั้งหมดที่จะทำให้องค์กร มีการให้บริการที่ทันสมัยสะดวกกับประชาชน