กกร.โยนผ้าขาวหั่นจีดีพีปีนี้อีกครั้งเหลือ0.5-2%

  • เศรษฐกิจไทยซมพิษโควิด-19ระลอกใหม่
  • แต่ทำใจดีสู้เสือปรับเป้าส่งออกเพิ่มเป็น5-7ถ
  • ยื่น4ข้อเสนอรัฐบาลรับไปพิจารณา

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ในฐานะทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ที่ประกอบด้วยส.อ.ท. ,สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยหลังการประชุมกกร.ประจำเดือนพ.ค. ว่า การระบาดโควิด-19 รอบใหม่ที่เกิดขึ้น มีแนวโน้มรุนแรงและส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจไทย มีการฟื้นตัวช้าลงกว่าเดิมโดยส่งผลกระทบต่อทั้งการจ้างงานและกำลังซื้อในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 เป็นอย่างมาก

ดังนั้นกกร.จึงปรับกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี นี้ ใหม่จากเดิมในเดือนเม.ย.คาดว่าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) จะขยายตัว 1.5 -3%ให้เป็น เป็นขยายตัวเพียง 0.5 – 2% ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว โดยจากสหรัฐฯจึงปรับการส่งออกจากเดิม โต 4-6% เป็น 5- 7% ขณะที่เงินเฟ้อคงเดิมที่ 1-2%

“โควิด-19ที่ระบาดรอบใหม่จะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของคนในประเทศและภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย ในไตรมาส2และไตร3เป็นอย่างมาก เห็นได้ชัดจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ประกาศปรับลดประมาณการจีดีพี ในปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ต่ำกว่าระดับ 2% “

ขณะเดียวกัน การเร่งแจกกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้และปีหน้า กลับมาฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ดังตัวอย่างในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการกระจายวัคซีน อาทิ สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ที่เศรษฐกิจในปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง

ทั้งนี้กกร.ได้ขอให้รัฐบาล จะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจใน 4 เรื่องสำคัญได้แก่ 1. เร่งฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย โดยปรับปรุงการสื่อสารกับประชาชนเพื่อลดความสับสน และบริหารจัดการมาตรการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ เร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่เป็นยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเพื่อให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในไตรมาสที่ 4

2.เร่งผลักดันพระราชกำหนด( พ.ร.ก. )เงินกู้ 700,000 ล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลมีเม็ดเงินเพียงพอ และดำเนินโครงการด้านสาธารณะสุข ด้านการเยียวยา ชดเชยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ภาวะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและมีความไม่แน่นอนสูง

3.เร่งรัดมาตรการช่วยเหลือด้านกำลังซื้อภาคประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ให้เข้า มาพยุงกำลังซื้อได้ภายในเดือนมิ.ย.นี้เพราะหากเลื่อนไปเดือนก.ค.อาจล่าช้าสไป และขอให้พิจารณาเพิ่มวงเงินสนับสนุนการใช้จ่ายจาก 3,000 บาทเป็น 6,000 บาท เพื่อช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 90,000 ล้านบาท เป็น 180,000ล้านบาท เมื่อรวมเม็ดเงินของประชาชนที่นำออกมาใช้จ่ายคู่กับเม็ดเงินจากโครงการคนละครึ่ง

4.เสริมมาตรการดึงกำลังซื้อ จากประชาชนที่มีเงินออม โดยสนับสนุนมาตรการนำรายจ่ายจากการซื้อสินค้าไปหักภาษีเงินได้ในวงเงิน 50,000 บาทต่อราย ซึ่งจะจูงใจให้ประชาชนในกลุ่มนี้นำเงินฝากมาใช้จ่าย

#Thejournalistclub #วัคซีนโควิด #กกร.