กกร.ชงข้อเสนอเศรษฐกิจรัฐบาล “เศรษฐา”

  • จี้แก้ปัญหาน้ำพื้นที่อีอีซี สร้างเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ
  • เจียดงบดิจิทัล วอลเล็ต บริหารจัดการน้ำระยะสั้น-ยาว
  • แนะแจกเงินดิจิทัลเฉพาะกลุ่ม และจำกัดพื้นที่ใช้งาน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ประกอบด้วย หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทยว่า กกร.ได้จัดเตรียมข้อเสนอทางเศรษฐกิจสำหรับเสนอรัฐบาลใหม่แล้ว โดยขอให้รัฐบาลรื้อฟื้นการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.กลาง) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อเป็นเวทีนำเสนอความเห็นและแนวทางการขับเคลื่อนอย่างใกล้ชิด และเร่งแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

นอกจากนี้ กกร.เห็นว่า การบริหารจัดการน้ำเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วน รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณบริหารจัดการน้ำทั้งระยะสั้นและระยาว โดยอาจใช้งบประมาณบางส่วนจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าไม่หยุดชะงักและเป็นไปตามเป้าหมาย อีกทั้งต้องการให้รัฐสนับสนุนและลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อดึงดูดการลงทุนต่อเนื่อง และบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้มีเพียงพอสำหรับภาคอุตสาหกรรม และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ

พร้อมกันนั้น เสนอให้เร่งรัดแผนบริหารจัดการน้ำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพราะในปีนี้ ปริมาณน้ำใช้ได้จริง ณ เดือนต.ค. อยู่ที่ระดับ 54% ต่ำกว่าเดือนต.ค.65 ที่อยู่ที่ระดับ 66% หากภาวะเอลนีโญรุนแรง ปริมาณฝนต่ำกว่าค่าปกติจะส่งผลให้ปริมาณน้ำใช้การได้ยิ่งน้อยลง และเกิดผลกระทบรุนแรง เป็นวงกว้าง

“อยากให้รัฐบาลเร่งพัฒนาแหล่งเก็บน้ำที่สำคัญในพื้นที่ภาคตะวันออก เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซี รวมถึงทบทวนแผนทรัพยากรน้ำ 20 ปี ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก โดยอยากให้เน้นที่พื้นที่อีอีซีด้วย”

นอกจากนี้ ยังต้องการให้พักชำระหนี้สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) เพื่อให้พร้อมรับโอกาสจากการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้ และการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของรัฐบาลด้วยเม็ดเงินถึง 560,000 ล้านบาทในช่วงต้นปีหน้า โดยใช้กลไกบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ขยายการค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอีเพิ่มจาก 30% เป็น 50-60%

ส่วนเงินดิจิทัล ที่จะเพิ่มเงินเข้าระบบ 560,000 ล้านบาทนั้น ควรจำกัดเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย และจำกัดพื้นที่ในการใช้งาน เพื่อก่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจทวีคูณมากกว่า โดยสนับสนุนการใช้จ่ายสินค้าที่ผลิตในประเทศ หากควบคุมวงเงินให้เหมาะสม รัฐบาลจะมีวงเงินไปลงทุนบริหารจัดการน้ำด้วย สำหรับการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ควรใช้กลไกคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อให้เป็นไปตามความเหมาะสมของเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัด เร่งรัดผลักดันการเจรจาจัดทำความตกลงทางการค้า (เอฟทีเอ) กับต่างประเทศให้มากที่สุด และจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงผลักดันแนวทางการทำคาร์บอน เครดิต ให้เชื่อมโยงกับมาตรฐานสากล