โค้งสุดท้าย! ต่างด้าว 3 สัญชาติ รีบลงทะเบียนออนไลน์ ภายใน 13 ก.พ.นี้



  • มีการยื่นบัญชีรายชื่อแล้ว 540,000 คน
  • เป็นกลุ่มมีนายจ้างกว่า 90%
  • ที่เหลือเป็นแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีนายจ้าง

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่ากระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ https://e-workpermit.doe.go.th ตามมติครม. เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ได้รับผลตอบรับจากนายจ้าง/สถานประกอบการ เป็นอย่างดี ส่วนใหญ่เห็นว่าสะดวก ไม่เสียเวลา และปลอดภัยกว่าที่ไม่ต้องเดินทางไปติดต่อราชการในสถานที่ที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก

โดยกระทรวงแรงงานคาดการณ์ว่าเมื่อสิ้นสุดการดำเนินการลงทะเบียนออนไลน์ในขั้นตอนแรก (13 ก.พ. 64) จะมีผู้แจ้งบัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าวประมาณ 500, 000 คน อย่างไรก็ตามล่าสุด มีผู้แจ้งบัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าวเข้ามาแล้วถึง 540, 000 คน ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้

“การดำเนินการในขั้นตอนแรกนั้นสำคัญมาก หากไม่ยื่นบัญชีรายชื่อภายในเวลาที่กำหนด จะไม่สามารถดำเนินการในขั้นตอนอื่นต่อไปได้ ซึ่งหากตรวจพบเจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อระวังป้องกัน และหลีกเลี่ยงทุกปัจจัยที่จะนำไปสู่การแพร่ระบาด อันจะส่งผลกระทบต่อประชาชน”

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ข้อมูลการยื่นบัญชีรายชื่อ คนต่างด้าว 3 สัญชาติ จากระบบออนไลน์ https://e-workpermit.doe.go.th ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 มีคนต่างด้าวยื่นบัญชีรายชื่อแล้วรวม 540,594 คน แบ่งเป็น กรณีคนต่างด้าวที่มีนายจ้าง ซึ่งมีนายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อฯ จำนวน 119,491 ราย เป็นคนต่างด้าว จำนวน 497,785 คน แบ่งเป็นสัญชาติเมียนมา 297,569 คน กัมพูชา 145,162 คน และลาว 55,054 คน

และกรณีคนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้าง โดยคนต่างด้าวแจ้งข้อมูลด้วยตนเอง จำนวน 42,809 คน แบ่งเป็นสัญชาติเมียนมา 22,302 คน กัมพูชา 18,155 คน และลาว 2,352 คน โดยจังหวัดที่อนุมัติบัญชีรายชื่อสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.กรุงเทพมหานคร 102,333 คน 2.ชลบุรี 38,240 คน 3. ปทุมธานี 32,416 คน 4.สมุทรปราการ 29,879 คน และ 5.เชียงใหม่ 23,986 คน

“ กรมการจัดหางาน ขอย้ำเตือน คนต่างด้าวทั้งที่มีนายจ้าง และยังไม่มีนายจ้าง ที่ดำเนินการยื่นบัญชีรายชื่อฯแล้ว ต้องนัดหมายเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด – 19 กับสถานพยาบาลที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ประกาศเป็นห้องปฏิบัติการเครือข่ายตรวจ SARS-CoV-2 และซื้อประกันสุขภาพกับสถานพยาบาลของรัฐ เป็นระยะเวลา 2 ปี รวมทั้งตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค พร้อมทั้งดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อการพิสูจน์ตัวตนของคนต่างด้าว

ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการตรวจโรคโควิด –19 ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 และส่งข้อมูลให้กรมการจัดหางาน ออกใบอนุญาตทำงาน ทั้งนี้ หากมีเหตุให้ไม่สามารถตรวจโรคต้องห้ามได้ทันพร้อมกับการตรวจคัดกรองโรคโควิด – 19 ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 ให้ไปดำเนินการให้แล้วเสร็จ ไม่เกินวันที่ 18 ตุลาคม 2564

จากนั้นกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่มีนายจ้าง ให้ไปชำระเงินค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงาน จำนวน 1,900 บาท ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสหรือธนาคารกรุงไทย และให้นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวในระบบออนไลน์ https://e-workpermit.doe.go.th ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 และคนต่างด้าวไปจัดทำทะเบียนประวัติและรับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) กับกรมการปกครอง ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2564

ส่วนคนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้าง ให้ไปจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ทร.38/1) ตามวิธีการที่กรมการปกครองกำหนด ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 เมื่อมีนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่ประสงค์จะรับคนต่างด้าวดังกล่าวเข้าทำงาน ให้ไปชำระเงินค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงาน จำนวน 1,900 บาท ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสหรือธนาคารกรุงไทย และให้นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 13 กันยายน 2564 และคนต่างด้าวไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ และรับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) กับกรมการปกครอง ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565

สำหรับผู้ที่ต้องการสอบถามขั้นตอนขอรับใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว ติดต่อที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ”