- ชี้โควิด-19 ระบาดรอบ 2 ในช่วงฤดูฝนอาจยากต่อการควบคุม
- เผยการเรียนช่วงโควิด เด็กต้องอยู่ในวิถีชีวิตใหม่ เรียนได้ทั้งที่บ้าน-โรงเรียน
- แนะครูควรเปลี่ยนวิธีการสอนใหม่ เรียนเชิงปฏิบัติมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (21 พ.ค.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก กล่าวถึงเรื่อง “โควิด-19 เราจะต้องอยู่ด้วยกันได้” โดยมีเนื้อหาว่า
ถึงแม้ว่า ขณะนี้ประเทศไทยติดเชื้อน้อยมาก จะพบการติดเชื้อ ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ มาตรการในการควบคุมทำได้ดีมาก แต่ยังมีโรคนี้ระบาดอยู่ทั่วโลก มีผู้ป่วยใหม่วันละเป็นแสนคน
จึงเป็นการยากที่จะกวาดล้างไวรัสนี้ให้หมดไป
ทุกคนจึงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัว ให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่
ในทุกปี โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่นไข้หวัดใหญ่ RSV จะพบน้อยมากในฤดูร้อน และในช่วงปิดเทอม จะระบาดมากในฤดูฝน เริ่มตั้งแต่นักเรียนเปิดเทอม จะติดต่อกันง่ายมาก ในโรงเรียน
โควิด-19 เป็นอีกโรคหนึ่งที่มีการติดเชื้อ เช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจ ก็ไม่แปลก ที่จะระบาดในฤดูฝน โดยเฉพาะจากเด็กสู่เด็กก่อน แล้วจึงแพร่ระบาดออกไป
การระบาดในระลอก 2 ถ้าเกิดในฤดูฝน อย่างไข้หวัดใหญ่ ก็ยากที่จะควบคุม จะต้องเริ่มต้นปิดบ้านปิดเมืองใหม่ หรือไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น
การเรียนการสอนปีนี้ จึงต้องอยู่ในวิถีชีวิตใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดของโรคได้ เด็กนักเรียนจะต้องเรียนได้ทั้งที่บ้าน และที่โรงเรียน
การเรียนการสอน ไม่ควรยกให้เป็นภาระของโรงเรียนเท่านั้น ที่บ้านก็จะต้องมีบทบาทมาก แม้กระทั่งท้องถิ่น ก็มีปราชญ์ชาวบ้านมากมาย ที่พร้อมจะสอนได้
การประสบความสำเร็จในชีวิตของเด็ก ไม่ได้เกิดจากการแข่งขันเข้าเรียน การกวดวิชา โรงเรียนกวดวิชาไม่สามารถกำหนดระยะห่างของบุคคลได้
เด็กเรียนกวดวิชาจ่ายค่าเล่าเรียนแพง แล้วนั่งเรียนกับครูตู้ นั่งติดกัน ก็ไม่เห็นมีใครบ่น หรือดรามา
ที่ผ่านมา คนมีฐานะสามารถให้ลูกหลานไปเรียนกวดวิชา เกิดความแตกต่างทางการศึกษา เพราะตัววัดของเราไม่ดี
คุณครูเองก็จะต้องเปลี่ยนวิธีการสอนใหม่ เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสเลย การเรียนเชิงภาคปฏิบัติ ปฏิบัติงานจริง ไปทำได้จริง ถึงอยู่ที่บ้านก็สามารถทำได้
การศึกษาในปีนี้ จึงต้องมีการเตรียมการ การเรียนการสอนแบบวิถีชีวิตใหม่ ให้เด็กไทยประสบความสำเร็จในชีวิตไม่ใช่เกิดความเครียดในการเรียน ตั้งแต่เช้าจนเย็น นอกเวลาต้องไปกวดวิชา
วิถีชีวิตใหม่ อาจทำให้เด็กมีความสุขมากขึ้นก็ได้