เหยื่อ “ยาดองมรณะ” จากพิษ เมทานอล ดับแล้ว 7 ราย ยอดป่วยพุ่ง 44 ราย

เมทานอล


อัปเดตสถานการณ์ผู้ป่วยได้รับสารพิษ เมทานอล จ.กรุงเทพฯ ดับแล้ว 7 ราย ป่วยเพิ่มอีก 1 ยอดผู้ป่วยพุ่ง 44 ราย ผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัว เหลือ 8 ราย และรักษาหายแล้ว 29 ราย

  • ผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัว เหลือ 8 ราย
  • รักษาหายแล้ว 29 ราย

เมื่อเวลา 17.00 น.วันที่ 31 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถิติ “สถานการณ์ผู้ป่วยได้รับสารพิษ เมทานอล จ.กรุงเทพฯ” จากกรมการแพทย์ และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข ระบุว่า “จำนวนผู้ป่วยทั้งหมด รวม 44 ราย (เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 1 ราย) เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย เป็น 7 ราย, ผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัว เหลือ 8 ราย และรักษาหายแล้ว 29 ราย

ซึ่ง อยู่ระหว่างกำลังใส่ท่อช่วยหายใจ 6 ราย แบ่งผู้ป่วยตาม รพ.ดังนี้ รพ.นพรัตนราชธานี (สีแดง) 2 รายและ (สีเขียว) 2 ราย, รพ.ราชวิถี (สีแดง) 1 ราย, รพ.เลิดสิน (สีแดง) 1 ราย, รพ.เชียงคำ (สีแดง) 1ราย และ รพ.เกษรมราษฎร์ รามคำแหง (สีแดง) 1 ราย

ฏกยมีรายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับผู้ป่วยในระบบที่เพิ่มเข้ามาอีก 1 ราย เป็นผู้ป่วยชาย ภูมิลำเนา จ.พะเยา เดินทางมาเยี่ยมลูกที่ กทม. โดยนำเหล้าจากซุ้มหทัยราษฎร์ 33 กลับไปดื่มที่ จ.พะเยา อาการเริ่มเมื่อวันที่ 28 ส.ค.68 เป็นการดื่มครั้งสุดท้าย และเกิดมีอาการตาพร่า

และในวันที่ 29ส.ค.67 มีอาการเหนื่อย จึงเดินทางไปตรวจ ที่ รพ.เชียงคำ จ.พะเยา ลักษณะอาการเข้าได้กับเมทานอล (methanol intoxication on tube, HD)

ส่วนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอีก 1 ราย อยู่รักษาตัวที่ รพ.นพรัตน์ โดยซื้อยาดองจาก ซุ้มสุวินทวงศ์ 1 และเข้าแอดมิด ที่ รพ. เมื่อวันที่ 27 ส.ค.67 กระทั่งมาเสียชีวิต

สำหร้บ เมทานอล หรือ เมทิลแอลกอฮอล์ เป็นแอลกอฮอล์ชนิดเชื้อเพลิง เป็นสารพิษที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม ปกติจะใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การทำเฟอร์นิเจอร์ (สีทาไม้ น้ำมันเคลือบเงา น้ำยาลอกสี น้ำงานเคลือบสี) รวมถึงนำไปผสมกับน้ำมันดีเซลเพื่อทำเป็นน้ำมันไบโอดีเซลได้ด้วย

ส่วนแอลกอฮอล์ ที่จะเจอในเหล้า หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตอย่างถูกกฎหมาย จะเป็นแอลกอฮอล์ที่มีชื่อว่า เอทานอล หรือเอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ที่ได้จากการหมักพืชผลทางการเกษตร

ซึ่งเอทานอลเป็นแอลกอฮอล์ที่สามารถรับประทานได้ รวมถึงใช้ผลิตเป็นสเปรย์แอลกอฮอล์ น้ำยาล้างแผล และการใช้เพื่อฆ่าเชื้อ แต่กลุ่มที่ใช้เพื่อการฆ่าเชื้อ จะมีความเข้มข้นของเอทิลแอลกอฮอล์สูง อย่างน้อย 70% ซึ่งบริโภคไม่ได้

นอกจากนี้ ยังมีรายงานพบว่า พบการใช้สารไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ ใช้เป็นตัวทำละลาย หรือสารฆ่าเชื้อ ทำความสะอาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่สามารถบริโภคได้

เหตุผลที่ว่า ทำไมพบเมทานอลอยู่ในเครื่องดื่ม เนื่องจาก “เมทานอล” มีราคาถูกกว่า “เอทานอล” โดยอาจมีผู้ผลิตบางรายนำ “เมทานอล” มาใช้กลั่นแทนเอทานอลหรือผสมกับเอทานอลด้วย เพราะเมทานอลมีจุดเดือดต่ำกว่าเอทานอล ทำให้กลั่นได้เร็วกว่า และการที่เมทานอลมีราคาถูกกว่าเอทานอล เป็นการลดต้นทุนการผลิตได้

  • อันตรายต่อร่างกาย

รศ.ภก.ธนรัตน์ สรวลเสน่ห์ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล เล่ากลไกของการดูดซึมเมทานอลไว้ว่า เมทานอลจะถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง

จากนั้นตับจะเปลี่ยนเมทานอลส่วนใหญ่ให้เป็นฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) ซึ่งจะถูกเปลี่ยนต่อไปเป็นกรดฟอร์มิก (Formic Acid) ได้ด้วยเอนไซม์ Alcohol Dehydrogenase และ Aldehyde Dehydrogenase ตามลำดับ

จากนั้นร่างกายจะกำจัดกรดฟอร์มิกออกทางไตต่อไป ซึ่งฟอร์มัลดีไฮด์และกรดฟอร์มิกเป็นสารที่มีพิษต่อร่างกาย

ขนาดที่เริ่มเป็นพิษ ประมาณ 100 mg/kg ขนาดที่เป็นพิษรุนแรงจนผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตมักมากกว่า 60 ml ของ 40% เมทานอล ถ้าผู้ป่วยได้รับเมทานอลเข้าสู่ร่างกายจะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง ส่วนใหญ่ประมาณ 95% จะถูกกำจัดที่ตับ

แต่การสะสมของกรดฟอร์มิก (Formic Acid) ที่อยู่ในร่างกาย ทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด (Metabolic Acidosis) และเป็นพิษต่อตา (Ocular Toxicity) ได้

ส่วนอาการของภาวะเป็นพิษจากเมทานอล หลังได้รับเมทานอล ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ 1 ชั่วโมง ถึง 3 วัน ถ้าผู้ป่วยดื่มเครื่องดื่มที่มีเมทานอล ร่วมกับเอทานอล จะทำให้อาการเริ่มแรกช้าลงไปอีก

อาการที่พบได้ มีดังนี้

  • ระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง
  • พิษทางตา ได้แก่ ตาพร่า ตามัว แพ้แสง เห็นภาพขาวจ้าไปหมด (Snowfield Vision)
  • อาการอื่น ๆ ได้แก่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย สับสน มึนงง ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการชัก หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : กรมการแพทย์ แนะงดเหล้า บุหรี่ อาหารรสเค็มจัด ห่างไกลกระดูกพรุน

: สถาบันนิติเวช