สุริยะ-ส.อ.ท. มะรุมมะตุ้มหาทางแก้ฝุ่นพิษ



  • โรงงาน-ไร่อ้อย-เหมืองแร่แก้ปัญหาด่วน
  • ทุกขั้นตอนการผลิตต้องทำตามกฏหมาย
  • กลุ่มยานยนต์ส.อ.ท.เร่งปรับสภาพเครื่องยนต์

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เร่งหามาตรการในการควบคุม และป้องกันการเกิดปัญหาคุณภาพอากาศมีฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) และกำชับ ให้ผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมที่อยู่ในความรับผิดชอบ กำหนดมาตรการ ปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อป้องกันมิให้เกิดหรือลดปัญหาฝุ่นละออง ที่มีสาเหตุจากกระบวนการอุตสาหกรรม


สำหรับมาตรการดังกล่าวมีอาทิ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม ในการลดกำลังการผลิต ควบคุมการระบายมลพิษอากาศจากการประกอบกิจการ ,ขอความร่วมมือโรงงานที่ติดตั้งเครื่องมือหรืออุปกรณ์พิเศษ (CEMS) ที่อยู่นอกพื้นที่บังคับใช้ตามกฎหมาย ให้เชื่อมต่อข้อมูลรายงานคุณภาพอากาศมายังกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) , ตรวจสอบและเฝ้าระวังโรงงาน เพื่อป้องกันการเกิดฝุ่นและมลพิษทางอากาศ โดยแผนการตรวจโรงงานประจำปี นี้ ให้ เน้นโรงงานที่เคยมีปัญหาข้อร้องเรียนด้านฝุ่นละอองในปีที่ผ่านมา

ขณะที่มาตรการ กำกับดูแลคือ การให้โรงงานตรวจสอบระบบบำบัดอากาศให้มีประสิทธิภาพ ,ส่งเสริมให้โรงงานใช้เทคโนโลยีสะอาด ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคในการปรับปรุงกระบวนการ เพื่อการลดมลพิษที่ต้นทาง , ประสานขอความร่วมมือกับกองทัพอากาศ สำรวจสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) โดยใช้เครื่องมือตรวจวัดร่วมกับโดรน

สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ออกประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับเงิน ที่หักจากค่าอ้อยไฟไหม้ อ้อยยอดยาว และอ้อยที่มีกาบใบ ปี2561 โดยกำหนดให้หักเงินชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยไฟไหม้ในอัตราตันละ 30 บาท จ่ายคืนให้กับชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีเต็มจำนวนโดยคิดแยกเป็นรายโรง และปรับเงินสำหรับโรงงานน้ำตาล ที่มีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเกินจำนวนที่กำหนด ในอัตราตันละ 12 บาท โดยให้นำเงินส่วนนี้เป็นรายได้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อนำไปใช้ในโครงการลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ต่อไป

ท้ังนี้ ในส่วนของ มาตรการเกี่ยวกับผู้ประกอบการด้านเหมืองแร่ ได้ขอความร่วมมือสถานประกอบการ ให้ควบคุมการระเบิดให้เป็นไป ตามหลักวิชาการเพื่อควบคุมฝุ่นจากการระเบิด ,ตรวจสอบระบบกำจัดฝุ่นของสถานประกอบการให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเปิดใช้งานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาประกอบการ , ฉีดพรมน้ำและปรับปรุงเส้นทางขนส่งในเขตเหมืองแร่ เป็นประจำเพื่อลดการสะสมฝุ่น ,ทำความสะอาดบริเวณพื้นที่สถานประกอบการ ลานเก็บกองแร่และมูลดินทราย เพื่อลดการสะสมของฝุ่นอย่างสม่ำเสมอ , จัดทำแนวกันชนปลูกต้นไม้โดยรอบสถานประกอบการ เพื่อป้องกันฝุ่นจากสถานประกอบการออกไปสู่ภายนอก เป็นต้น

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท. ) กล่าวว่าขณะนี้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม กำลัง หารือแนวทางการสนับสนุนโครงการการปรับปรุงสภาพเครื่องยนต์ รองรับการใช้น้ำมันดีเซลบี 10 เป็นน้ำมันดีเซลฐานของประเทศ เพื่อให้รถยนต์มีการปล่อยมลพิษโดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.6 ไมครอน(PM 2.5) ลดลง อาทิ การสนับสนุนตรวจสอบเช็คสภาพรถยนต์ฟรี การเปลี่ยนอะไหล่ในราคาถูกเป็นพิเศษ การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง การสนับสนุนค่าแรงให้มีความชัดเจนเร็วๆ นี้ อีกทั้งจะขอความร่วมมือไปยังสมาชิก ในการดูแลความสะอาดและควบคุมกิจกรรมต่างๆ ภายในโรงงานที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น ดูแลตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆ และเลือกใช้เชื้อเพลิงสะอาด รวมถึงตรวจสอบวิเคราะห์แหล่งกำเนิดฝุ่น เพื่อเพิ่มมาตรการในการตรวจติดตามและป้องกันอย่างใกล้ชิด ป้องกันปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษของทางภาคอุตสาหกรรม