สตง. เผย หน่วยงานป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า-หมอกควัน ขาดความพร้อม ความเข้าใจในการดำเนินการป้องกันภัย

  • ไม่ติดตามเครือข่ายความร่วมมือควบคุมไฟป่า
  • ขาดข้อมูลสำคัญที่นำมาปรับปรุงการดำเนินงานป้องกัน

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า จากปัญหาค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศที่มีระดับสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานตามกฎหมายในหลายพื้นที่ของประเทศ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรอย่างรวดเร็วและวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่เกิดขึ้นเป็นประจำระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมของทุกปี

ทั้งนี้สตง. จึงได้เร่งตรวจสอบการดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน และตาก โดยเลือกตรวจสอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 2 แห่ง ที่มีการสนับสนุนงบประมาณให้กับชุมชนหรือเครือข่ายเพื่อดำเนินการสนับสนุนภารกิจด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน และตรวจสอบการถ่ายโอนภารกิจการควบคุมไฟป่าไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในช่วงระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 – 2558 และตรวจสอบผลการดำเนินงานตามประเด็นการตรวจสอบอีกครั้งในช่วงระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2562 พบว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบยังขาดการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของชุมชนหรือเครือข่ายที่ได้รับงบประมาณสนับสนุน ดังนี้

1.ขาดการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่าเพื่อนำข้อมูลมาใช้ประกอบการวางแผนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า โดยพบว่าตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 – 2562 หน่วยงานที่รับผิดชอบแห่งหนึ่งได้ดำเนินการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่าในพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,618 เครือข่าย ซึ่งใช้งบประมาณในการสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายฯ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 98,400,000 บาท โดยในจำนวนนี้เป็นเครือข่ายที่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด จำนวน 1,142 เครือข่าย จากการสังเกตการณ์ในพื้นที่จังหวัดที่สุ่มตรวจสอบในปีพ.ศ. 2558 พบว่า ยังไม่มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของชุมชนหรือเครือข่ายที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการป้องกันและควบคุมไฟป่า และจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่

ส่วนที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานที่รับผิดชอบในปี พ.ศ. 2562 พบว่า ยังไม่มีการกำหนดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่าแต่อย่างใด ทำให้ขาดข้อมูลสำคัญที่จะนำมาปรับปรุงการดำเนินงานของเครือข่ายหรือปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกและกำหนดกิจกรรมการใช้งบประมาณของเครือข่าย ซึ่งย่อมส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ รวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

2.ขาดการสรุปผลข้อมูลในภาพรวมจากการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของเครือข่ายแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประกอบการวางแผนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า จากการตรวจสอบ พบว่าตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 – 2562 หน่วยงานที่รับผิดชอบอีกแห่งหนึ่งได้ดำเนินการสร้างเครือข่ายในพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด รวม 790 เครือข่าย

โดยเครือข่ายได้รับการสนับสนุนงบประมาณเครือข่ายละ 50,000 บาท จำนวน 542 เครือข่าย โดยจัดการอบรมหรือเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้กับสมาชิกของเครือข่าย จำนวน 46 รุ่น โดยมีเป้าหมายผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 4,600 คน รวมถึงการอบรมการสร้างเครือข่ายจำนวน 60 รุ่น เป้าหมายผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 2,400 คน แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบ ยังไม่มีการจัดทำรายงานสรุปผลในภาพรวมจากข้อมูลการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของเครือข่าย เพื่อนำมาใช้ประโยชน์สำหรับการทบทวนผลการปฏิบัติงาน และใช้วางแผนการดำเนินงานในอนาคต ซึ่งย่อมส่งผลให้การดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบ อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพและความสำเร็จในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกต คือ อปท. บางแห่งที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจการควบคุมไฟป่ายังขาดความพร้อมและความเข้าใจในการดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าในพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง ทั้งในด้านการจัดทำแผนงานตามบทบาทหน้าที่ การจัดตั้งงบประมาณ และด้านบุคลากร รวมทั้งความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินการตามภารกิจด้านการควบคุมไฟป่า จึงอาจส่งผลกระทบทำให้การดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ป่าสงวนในพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัดยังไม่มีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควร