- ประชาชนอย่าหลงเชื่อ เพราะอาจถูกหลอกดูดข้อมูลส่วนบุคคล
- “ไทยชนะ”ของแท้ไม่ต้องดาวน์โหลด-ไม่ส่ง “เอสเอ็มเอส”
- มีผู้ใช้แล้ว 11 ล้านคน มีร้านลงทะเบียน 1 แสนร้าน
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธินน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค. ) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ไม่หวังดี ทำเว็บ “ไทยชนะ”ปลอม เพื่อหลอกหลวงประชาชน และอาจนำข้อมูลประชาชนไปใช้ในทางมิชอบนั้น ศบค.ขอย้ำว่าการเข้าแพลตฟอร์ม”ไทยชน”นั้น ไม่มีการดาวน์โหลดใดๆ ทั้งสิ้น และไม่มีการส่งข้อความ(เอสเอ็มเอส)ให้ประชาชนแต่อย่างใด
ทั้งนี้ขอให้ประชาชนสังเกตว่าชื่อเว็บไซต์ทางการจะใช้ภาษาไทย คือ www.ไทยชนะ.com และภาษาอังกฤษ คือ www.thaichana.com ทั้งนี้ หากเป็นชื่อเว็บไซต์อื่น เป็นของปลอมทั้งสิ้น และอาจถูกดึงข้อมูลไปใช้ในทางไม่ถูกต้อง ดังนั้นขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวัง และก่อนเข้าใช้ ควรตรวจดู เพื่อความแน่ใจอีกครั้ง ว่าไม่ใช้เว็บไซต์บปลอม
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ประชาชนไม่ต้องกังวลเรื่องการนำข้อมูลประชาชนไปใช้ในทางอื่น เนื่องจากข้อมูลจากแพลตฟอร์มไทยชนะนั้น จะเก็บไว้ใช้เฉพาะกรมควบคุมโรคเพียงหน่วยงานเดียวเท่านั้น เพื่อเก็บข้อมูลไว้ 60 วัน เพื่อติดตามการควคุมโรค ยกตัวอย่าง กรณี ผู้ป่วยอายุ 72 ปีที่ไปร้านตัดผม หากใช้ไทยชนะก็จะสามารถตรวจสอบได้ง่าย และแจ้งผู้ใช้บริการอื่นๆเพื่อให้รับรู้ข้อมูลโดยเร็ว
สำหรับการใช้งานแพลตฟอร์ม www.ไทยชนะ.com ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 24 พ.ค. เวลา 21.00 น. พบว่าภาพรวมการใช้งานยอดสะสมตั้งแต่เริ่มโครงการ 1.จำนวนร้านค้าลงทะเบียน 106,235 ร้าน 2.จำนวนผู้ใช้งาน 11,757,624 คน และ 3.จำนวนการเข้าใช้งานการเช็กอิน 27,101,565 ครั้ง / เช็กเอ้าท์ 19,204,736 ครั้ง / ประเมินร้าน 10,867,125 ครั้ง
“หากประชาชนเช็กอิน ตอนเข้าใช้บริการ เมื่อออกจากสถานที่นั้น ขอให้เช็กเอ้าท์ออกด้วย เนื่องจากจะมีข้อมูลค้างในระบบว่ามีจำนวนคนหนาแน่น แต่ที่แท้จริงคือ คนออกมาแล้ว เพียงแค่ไม่ได้เช็กเอ้าท์ออกมาเท่านั้นเอง”
ด้าน นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การใช้งานระบบไทยชนะ โดยทีมงานขอโทษประชาชนที่ทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้นเล็กน้อย ในช่วงผ่อนปรนระยะที่ 2 มีคนใช้ 11,757,624 ล้านคน และมีร้านค้าลงทะเบียน 106,235 ร้าน โดยเปิดใช้งานมา 8 วัน มีผู้เช็คอิน เช็คเอ้าท์แล้วกว่า 46 ล้านครั้ง และตอบแบบสอบถาม 11 ล้านครั้ง ถือว่าคนไทยให้การตอบรับเป็นอย่างดี ถ้าเทียบกับต่างประเทศ เช่น ที่ประเทศอินเดีย ที่มีแพลตฟอร์มคล้ายกันมีการใช้งาน 10 ล้านคน แต่เขาประชาชนกรมี 1,800 ล้านคน
ส่วนกรณีที่มีการปลอมแปลงเว็บไซต์ไทยชนะนั้น เขาพยายามทำให้เหมือนจริงที่สุด โดยมีการปลอมชื่อเว็บมากมาย โดยขอแนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงการเข้าเว็บไซต์ทางช่องทางกูเกิ้ล ควรพิมพ์เข้าไปเองว่า www.ไทยชนะ.com เพื่อป้องกันความผิดพลาด และในส่วนของเว็บไซต์ปลอมนั้นจะขึ้นคล้ายกันแต่ต้องมีการดาวน์โหลด เมื่อพบกรณีนี้ให้ปิดทันที ไม่ต้องไปยุ่ง เพราะอาจจะมีปัญหาตามมา และ เราได้รับการร้องเรียนว่า เมื่อลงทะเบียนแล้วจะมีการแจ้งเตือนเอสเอ็มเอส ยืนยันว่าระบบของเราไม่มีส่งเอสเอ็มเอสให้ประชาชนแม้แต่ครั้งเดียว
“กระทรวงดีอีเอส กำลังดำเนินการทางกฎหมาย อยู่ระหว่างสืบสวนสอบสวน และศบค.ระบุว่าจะต้องดำเนินการทางการกฎหมายสูงสุด”
นพ.พลวรรธน์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” สามารถรองรับภาษาอังกฤษได้แล้ว และเตรียมพัฒนารองรับภาษาจีน เกาหลี มาเลย์เซีย ญี่ปุ่น พม่า และเขมร เพื่อให้ชาวต่างชาติเข้าใจว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ และสามารถใช้แพลตฟอร์มไทยชนะได้ เมื่ออาศัยอยู่ในประเทศไทย
สำหรับประเด็นกรณีที่เมื่อเช็คอินแล้วจะได้รับข้อความขยะ เช่น เว็บไซต์ชวนเล่นพนัน นั้น นพ.พลวรรธน์ กล่าวว่า เป็นเฉพาะโทรศัพท์ระบบไอโอเอส เท่านั้น ซึ่งเว็บไซต์โฆษณาประเภทนี้ระบาดมาตั้งแต่แรกแล้ว ซึ่งกระทรวงดีอีเอส กำลังดำเนินการแล้ว และรู้แล้วว่าอยู่แถวไหน ถ้าใครที่กำลังทำอยู่ขอให้หยุด
อย่างไรก็ตาม เราคิดระบบมาหลายรูปแบบอาจจะลำบากในช่วงแรก แต่พอทำแล้วจะเกิดความคุ้นชิน เหมือนกับการสวมหน้ากากอนามัย ขอรบกวนทำไปเรื่อยๆ ถ้าทำไปเรื่อยๆจะชินไปกับมันเอง ท่านบอกว่าถือของยุ่งยาก ทีมงานกำลังพัฒนาระบบ เพื่อให้ท่านใช้อย่างราบรื่น ย้ำว่าเอาไปทำอย่างอื่นไม่ได้ เพื่อคุ้มครองโรคเท่านั้น