

- ผู้ประกอบการใช้บันทึกการเข้า-ออกผู้ใช้บริการ
- ลงทะเบียนผ่านคิวอาร์โค้ด ที่วางไว้หน้าร้าน
- เตรียมพร้อมปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยว่า จากที่จะมีมาตรการผ่อนปรน เพื่อเปิดกิจการระยะที่ 2 ในวันที่ 17 พ.ค.นี้นั้น ทางศบค. ได้จัดทำแอปพลิเคชัน เพื่อช่วยควบคุมดูแลการระบาดของโควิด-19 สำหรับผู้ประกอบการผ่าน แอปพลิเคชั่นแพลตฟอร์มชื่อ “ไทยชนะ” เพื่อบันทึกการเข้า-ออกร้านด้วยดิจิทัล จากปัจจุบันจดใส่สมุด ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ และผู้ใช้บริการที่จะเช็กอินเข้าใช้บริการจะง่ายขึ้น
ทั้งนี้ผู้ประกอบต้องลงทะเบียน เพื่อสร้างคิวอาร์โค้ด จากนั้น นำมาแปะไว้ที่หน้าร้าน ผู้ใช้บริการจะต้องสแกนคิวอาร์โค้ดก่อนเข้าร้าน และหลังใช้บริการเสร็จสิ้น คุณสมบัติของแพลตฟอร์มนี้ สามารถตรวจสอบได้ว่า มีจำนวนผู้ใช้บริการอยู่ในร้านกี่คน มากน้อย หรือใกล้จำนวนที่กิจการนั้นกำหนดจำนวนคนแล้วหรือไม่ นอกจากนี้ ผู้ใช้บริการยังสามารถให้คะแนนร้านค้า กิจการที่ใช้บริการได้ด้วย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ประชาชนไม่ต้องกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว ไม่ต้องการอะไรมากมายไปกว่าเบอร์โทรศัพท์ เพียงเพื่อสแกนคิวอาร์โค้ดก่อนเช็คอิน ส่วนใครไม่มีโทรศัพท์จะต้องใช้ระบบจดบันทึกควบคู่ไปด้วย ดยแพลตฟอร์มนี้อาจจะตอบโจทย์ได้ 70-80% ของผู้ที่มีโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้สามารถติดตามได้เร็ว หากพบผู้ติดเชื้อ ป้องกันการระบาดรอบ 2 โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บไว้ที่กระทรวงสาธารณสุข ดูแลเรื่องสุขภาพเท่านั้น อาจจะมีหลายชั้นหลายกระบวนการ ต้องขอบคุณทุกคนที่ให้ความร่วมมือกับชีวิตวิถีใหม่
“แอปพลิเคชันเป็นคำตอบเข้ามาช่วยดูเรื่องความแออัด แต่มาตรการ 5 ข้อในการมีวิถีชีวิตใหม่ ประกอบด้วย ล้างมือ หน้ากาก เว้นระยะ การทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ อย่าให้แออัด ก็ยังมีความจำเป็นสำหรับ ทั้งผู้ประกอบกิจการและผู้ใช้บริการ เพื่อให้ทุกคนมีความปลอดภัย จะได้ผ่านระยะนี้เพื่อเข้าสู่การผ่อนปรนระยะที่2 ระยะที่ 3และระยะที่ 4 ต่อไป”
นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมผ(ดีอีเอส) กล่าวว่า มาตรการ 5 ข้อเพื่อเข้าสู่วิธีวิตใหม่นั้น ประชาชนมีหน้าที่เช็คอิน-เช็คเอ้าท์ เมื่อไปใช้บริการ ขณะที่ร้านค้าก็ต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ เพื่อรับคิวอาร์โค้ด ซึ่งการลงทะเบียนการใช้สถานที่นั้น นอกจากจะช่วยติดตามพบปะกลุ่มเสี่ยงแล้ว ก็จะทำให้ประชาชนได้รับการรักษาได้อย่างรวดเร็วด้วย ซึ่งการเช็คอิน ถือเป็นการปันสุข ใส่ใจกันและกัน จะทำให้ไทยปลอดภัยจากโควิด-19

“การใช้แอปพลิเคชั่นนั้น ช่วงแรกอาจขลุกขลักมาก แต่ทุกฝ่ายจะช่วยกัน นอกจากจะอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการแล้ว ยังช่วยติดตามกรณีผู้ป่วยอีกด้วย จะได้ตรงเป้าหมาย มิใช่ต้องตามหาคนทั้ง 2,000 คน ทั้งที่มีผู้ป่วยเพียงคนเดียว เหมือนกรณีประเทศเกาหลีใต้ โดยแอปฯไทยชนะ จะมีความชัดเจนในวันพรุ่งนี้ (15 พ.ค.) ”