

“ปัจจุบันโรงเรียนขนาดเล็กถูกรัฐปล่อยปละละเลย ผู้อำนวยการก็ไม่มี ครูก็ไม่ครบชั้น การบริหารจัดการโรงเรียนต้องอยู่ภายใต้ความจำกัดจำเขี่ยด้านงบประมาณ นักเรียนจำนวนไม่น้อยต้องอยู่กับการเรียนการสอนที่ไม่มีคุณภาพ” วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.พรรคก้าวไกล 10 สิงหาคม 2566
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.พรรคก้าวไกล อภิปรายในสภาถึง ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก กับความจริงที่ต้องกล้าพูด และยาขมที่จำเป็นต้องกิน
โดยระบุว่า ปัจจุบันจากโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ทั้งหมด มีจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กอยู่ประมาณครึ่งหนึ่ง โดยมีอยู่ประมาณ 14,958 แห่ง ที่เหลืออีก 14,625 แห่ง เป็นโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนไม่เกิน 200 คน อีกประมาณ 7,000 แห่ง จากอัตราการเกิดของประชากรลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จากปี 2536 ที่มีอัตราการเกิดเกือบปีละ 1 ล้านคน 10 ปีต่อมา ในปี 2546 ลดลงมาเหลือปีละ 800,000 คน และปัจจุบันน่าจะเหลืออยู่เพียงปีละ 500,000 คนเศษเท่านั้น จึงเชื่อได้ว่าในอนาคตอันใกล้ จำนวนโรงเรียนขนาดเล็กจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ทุกครั้งที่พูดถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ทุกคนก็มักจะตกอยู่ในสถานะน้ำท่วมปาก เพราะเวลาที่มีใครพูดถึงเรื่องนี้ทีไร ก็จะถูกต่อว่าต่อขานทันทีว่า เป็นคนใจร้ายคิดที่จะตัดโอกาสทางการศึกษาของเด็กยากจน ที่ไม่สามารถเดินทางไปเรียนที่โรงเรียนในเมืองได้ จนกลายเป็นอคติ ที่ทำให้ปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างที่ควรจะเป็น จนปัญหาลุกลามบานปลายไปเรื่อยๆ
จนปัจจุบันโรงเรียนขนาดเล็กถูกรัฐปล่อยปละละเลย ผู้อำนวยการก็ไม่มี ครูก็ไม่ครบชั้น การบริหารจัดการโรงเรียนต้องอยู่ภายใต้ความจำกัดจำเขี่ยด้านงบประมาณ นักเรียนจำนวนไม่น้อยต้องอยู่กับการเรียนการสอนที่ไม่มีคุณภาพ
ภาระต้องตกไปอยู่ที่ชุมชน โดยที่รัฐไม่คิดที่จะเหลียวแล พอประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ประชาชนต้องดิ้นรนทำมาหากิน จนชุมชนแบกรับภาระต่อไปไม่ไหว โรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ก็จะล้มหายตายจากไปเองในที่สุด และถูกปล่อยให้กลายเป็นพื้นที่รกร้าง ภาครัฐอาจจะคิดว่า “การทิ้งให้โรงเรียนเหล่านี้ตายไปเอง” เป็นอุบายที่ทำให้รัฐสามารถยุบเลิกโรงเรียนขนาดเล็ก ได้สำเร็จโดยที่ประชาชนไม่มีปากมีเสียง ซึ่งเป็นการคิดที่ผิดถนัด
เพราะทุกๆ ครั้งที่ประชาชนมองเห็นโรงเรียนที่รกร้าง จากการทอดทิ้งของรัฐ มันจะเป็นสัญลักษณ์ที่ตอกย้ำความรู้สึกไม่ไว้วางใจที่มีต่อกระทรวงศึกษาธิการขึ้นมาทุกครั้ง และการดำเนินนโยบายใดๆ ที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนในชุมชนต่างๆ ก็จะเต็มไปด้วยอุปสรรค เต็มไปด้วยความหวาดระแวงที่ไม่เชื่อใจรัฐ ทุกน้ำคำที่รัฐพูดกับประชาชน ประชาชนจะคิดไว้ก่อนว่า นี่คือ การหลอกลวง
ภายใต้การจัดสรรงบประมาณแบบรายหัว โรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อย ก็จะได้งบน้อยตามไปด้วย ต่อให้มีงบประมาณเพิ่มเติม ก็คิดเพิ่มเป็นรายหัวอยู่ดี เพิ่มเติมอีกแค่หัวละ 500 บาทต่อปี ยังไงก็ไม่พอกับค่าใช้จ่ายคงที่ ที่ต้องจ่ายเพื่อดูแล และบำรุงรักษาอาคารสถานที่ภายในโรงเรียน พอไม่สามารถบริหารงบประมาณให้มีประสิทธิภาพได้ งบประมาณไม่มีความประหยัดต่อขนาด ก็จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของการเรียนการสอน และคุณภาพชีวิตของนักเรียนภายในโรงเรียน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โรงเรียนที่มีนักเรียน 500 คน ได้ค่าอาหารกลางวันหัวละ 22 บาทต่อวัน เงินวันละ 11,000 บาท ก็พอที่จะบริหารจัดการได้ สำหรับโรงเรียนที่มีนักเรียน 40 คน ได้ค่าอาหารกลางวันหัวละ 36 บาทต่อวัน เงิน 1,440 บาท จะพอบริหารจัดการอาหารกลางวันให้มีคุณภาพได้ยังไง

ที่ผ่านมามาตรการการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ถูกทำแบบอ้อมๆ และคิดแบบไม่จบ มาโดยตลอด เช่น การแก้ปัญหาครูไม่ครบชั้น ด้วยการสอนแบบคละชั้น โดยมีการใช้สื่อการเรียนการสอนเข้ามาช่วย ตราบใดก็ตาม ที่เด็กยังถูกบังคับให้เรียนมากมายหลายวิชา มีชั่วโมงเรียนมากถึง 1,200 ชั่วโมงต่อปี มีการบ้าน มีการสอบอยู่เต็มไปหมดแบบนี้ การใช้สื่อเข้ามาช่วย ก็ทำได้เพียงทุเลาปัญหาเท่านั้น จริงๆ ไม่ต้องโรงเรียนขนาดเล็กหรอกครับ โรงเรียนทั่วไป ก็ควรต้องตั้งคำถามนี้เช่นกัน ว่าทำไมระบบการศึกษาไทย ต้องบังคับให้เด็กเรียนอะไรมากมายขนาดนี้ด้วย ถ้าไม่ปรับหลักสูตรให้เรียนน้อยลง การบ้านน้อยลง สอบน้อยลง การเรียนคละชั้นไม่มีทางที่จะมีประสิทธิภาพได้เลย
การควบรวมโรงเรียนที่ผ่านมา มีการจ่ายเงินชดเชยค่าเดินทางให้กับนักเรียน ระยะทางไม่เกิน 3 กิโลเมตร คนละ 10 บาท ต่อวัน ระยะทางมากกว่า 3-10 กิโลเมตร คนละ 15 บาทต่อวัน ระยะทางมากกว่า 10 กิโลเมตรขึ้นไป คนละ 20 บาทต่อวัน ผมถามว่าค่าเดินทางที่จัดสรรให้แค่นี้ จะไปจ้างรถที่ไหนได้ และเงินชดเชยนี้ ก็จะจ่ายให้กับนักเรียนเดิมเท่านั้น เด็กเล็กๆ ที่จะเข้าเกณฑ์เรียนในปีถัดไป ก็จะไม่ได้รับเงินชดเชยในส่วนนี้ ครูบาอาจารย์ที่กรุณาเอารถปิคอัพส่วนตัว ไปส่งเด็กๆ ไปยังโรงเรียนใหม่ ก็กลัวว่า ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ทุกอย่างคิดแบบสุกเอาเผากิน ใครจะไปยอมให้ยุบโรงเรียน
จากการวิจัยของธนาคารโลก ก็มีตัวเลขยืนยันว่า โรงเรียนที่สามารถบริหารงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะเป็นโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนระหว่าง 280-2,000 คน ดังนั้นการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก เราต้องกล้าที่จะพูดตรงๆ ว่า “กระทรวงศึกษาธิการจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบของโรงเรียนขนาดเล็กเสียใหม่” แต่ต้องเป็นปรับเปลี่ยนที่มียุทธศาสตร์ โปร่งใส มีท้องถิ่น และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ไปสั่งยุบโรงเรียน แบบนี้ไม่ได้ เพราะโรงเรียนเหล่านี้ ทุกโรงเรียนล้วนมีความผูกพันกับชุมชนมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย
ที่ประเทศญี่ปุ่น แต่เดิมมีโรงเรียนประถมศึกษาอยู่จำนวน 8,000 แห่ง ปัจจุบันควบรวมจนเหลืออยู่ไม่ถึง 6,800 แห่ง และยังคงมีการควบรวมอย่างต่อเนื่อง ตามอัตราการเกิดที่ลดลง ก็สามารถดำเนินการได้อย่างเข้าอกเข้าใจ ไม่มีความขัดแย้งแต่อย่างใด เพราะการควบรวมโรงเรียนที่ญี่ปุ่น มีการดำเนินการอย่างโปร่งใส มีชุมชนเข้ามาร่วมบริหารจัดการ ไม่มีปัญหาว่าโรงเรียนที่ถูกควบรวมแล้วถูกทิ้งให้รกร้าง
ก่อนอื่นเลย กระทรวงศึกษาธิการต้องกล้ายืนยันว่าโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลบนดอย เกาะแก่ง จำนวน 1,594 แห่ง ซึ่งมีนักเรียนรวมกันประมาณ 100,000 คน จะต้องประกาศชัดว่าจะไม่มีการยุบควบรวมโรงเรียน และมีการจัดสรรงบประมาณแบบใหม่ ให้เพียงพอต่อการบริหารจัดการโรงเรียน โดยไม่คำนึงถึงจำนวนหัวนักเรียน
โรงเรียนถูกควบรวม ต้องมีแผนการถ่ายโอนให้กับท้องถิ่น พร้อมกับมีงบอุดหนุนเฉพาะกิจ เพื่อให้โรงเรียนได้รับการปรับปรุง และถูกนำไปใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้และกิจกรรมชุมชน ไม่ถูกปล่อยทิ้งร้าง

มีการจัดสรรงบอุดหนุนเฉพาะกิจให้กับท้องถิ่น ในการจัดรถโรงเรียน ไว้บริการรับ-ส่งนักเรียน ไปยังโรงเรียนต่างๆ ในท้องถิ่น เมื่อจำนวนโรงเรียนถูกปรับลดให้สอดคล้องกับจำนวนนักเรียน กระทรวงศึกษาธิการก็จะสามารถจัดสรรงบประมาณในการบริหารจัดการโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โรงเรียนมีความปลอดภัย ห้องน้ำถูกสุขลักษณะ อุปกรณ์การเรียนการสอนมีความทันสมัย มีครูครบชั้นครบวิชา มีงบประมาณที่เพียงพอในการพัฒนาผู้เรียน
ตาม พ.ร.บ. ของ กสศ. ในมาตรา 5 (1) (5) และ (6) ผมขอเสนอแนะให้ กสศ. เข้ามาผลักดันการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กอย่างจริงจัง กล้าหาญที่จะเสนอแนวทาง ที่อยู่บนพื้นฐานของงานวิจัย และข้อเท็จจริง เพื่อคลี่คลายอคติ และความไม่เข้าใจกันที่เกิดขึ้น และหากพิจารณาจากรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบภายใน กสศ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 หน้าที่ 116 (https://bit.ly/3s358Kx)ตามข้อสังเกตของ คตส. ที่ระบุว่าเงินรับคืนโครงการของ กสศ. มียอดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผมเชื่อว่า กสศ. สามารถนำเอาเงินรับคืนดังกล่าวนี้ มาจัดตั้งเป็นโครงการเฉพาะกิจ ในการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก โดยมีผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจนได้
สำหรับปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก หากว่าจะต้องถูกเกลียดเพราะว่าพูดความจริง เราก็ต้องกล้าที่จะถูกเกลียด เพราะถ้าเราต้องการที่จะรักษาโรค เราก็ต้องกล้าที่จะกินยาขม ต้องกล้าที่จะผ่าตัดเพื่อไม่ให้โรคร้ายลุกลามบานปลาย ผมเชื่อว่า กสศ. ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากสังคมในวงกว้าง มีศักยภาพสูงมากที่จะเป็นแกนนำในการแก้ไขปัญหานี้ เพื่อให้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างตรงไปตรงมาเสียที เพราะถ้าเรายังปล่อยให้เวลาผ่านไป แล้วแก้ไขแบบอ้อมๆ เกรงอกเกรงใจ ไม่กล้ายอมรับความจริง สุดท้ายทุกอย่างมันจะสายเกินไปที่จะแก้ เด็กๆ ลูกหลานของพวกเราอีกกี่รุ่นที่ต้องจมอยู่กับการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ กับการจัดการงบประมาณที่ไร้ประสิทธิภาพ