- รัฐบาลเล่นงานแน่ถ้าภัยแล้งถึงขั้นวิกฤต
- “ประวิตร” สั่งขับเคลื่อนกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
- สทนช.เผยปี 2563 ฝนตกน้อยในรอบ 41 ปี
เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2563เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมน้ำปิง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเตรียมเปิดกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ โดยมี นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำเข้าร่วมและรับฟังนโยบายการขับเคลื่อนการทำงานของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ พร้อมประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) เพื่อร่วมติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ของหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน ทั้งนี้พล.อ.ประวิตร ได้สั่งกำชับ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องติดตามสถานการณ์สภาพปัญหาภัยแล้งอย่างใกล้ชิด มีมาตรการแก้ไขปัญหาชัดเจน รวดเร็วตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมเชิญชวนประชาชนร่วมรณรงค์ประหยัดน้ำและใช้น้ำอย่างคุ้มค่าให้มากที่สุดด้วย
พล.อ.ประวิตร ได้เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้กล่าวมอบนโยบายการขับเคลื่อนการทำงานของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ภัยแล้ง และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ตอนนี้ขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัด อย่าไปมุ่งปลูกข้าวนาปรังเพราะเป็นพืชใช้น้ำมาก และให้เลือกปลูกพืชใช้น้ำน้อยในการทำมาหากินแทน และต้องเตรียมการรับฝนปีนี้ที่จะมีน้อยกว่าทุกปี ก็ต้องเตรียมขุดบ่อบาดาล แก้มลิง เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในปีต่อไป เพราะประเทศเราได้น้ำมาจากน้ำฝนทั้งนั้น ก็ให้ทุกหน่วยงานเตรียมการรับสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ จะได้ช่วยเหลือประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคได้เพียงพอเพราะรัฐบาลให้เงินมาขุดบ่อบาดาลกว่า 500 กว่า ท่านนายกฯมีความห่วงใยเรื่องการใช้น้ำอย่างมาก ก็ต้องฝากสื่อมวลชนให้บอกประชาชนให้ใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อจะได้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอในทุกกิจกรรมไปตลอดแล้งนี้ และในช่วงฤดูฝนถัดไป
ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) กล่าวว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เกิดขึ้นตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ม.ค.63 ซึ่งได้เห็นชอบกรอบโครงสร้างกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ภายใต้ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่ออำนวยการ บูรณาการ และประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชน ในการควบคุมวิกฤติน้ำในภาวะรุนแรงหรือคาดการณ์ว่าจะรุนแรง ในระดับ 2 โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งให้อยู่ในวงจำกัด ให้หน่วยงานด้านปฏิบัติในพื้นที่สามารถทำการช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมควบคุมมลพิษ กรมเจ้าท่า การประปาภูมิภาค การประปานครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น มาปฏิบัติงานร่วมกัน โดยใช้ห้องประชุมชั้น 4 อาคารที่ทำการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นสถานที่ปฏิบัติงานของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ขณะเดียวกัน กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ยังทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ หากมีเกณฑ์เสี่ยงที่คาดว่าจะเข้าขั้นวิกฤติก็จะต้องพิจารณาเสนอการกำหนดเขตภาวะน้ำแล้งอย่างรุนแรง หรือระดับความรุนแรง สถานการณ์ภาวะวิกฤติน้ำ ในระดับ 3 ที่ให้นายกรัฐมนตรีออกประกาศตามมาตรา 58 หรือคำสั่งจัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 หากเกิดกรณีวิกฤติตามลำดับต่อไป
“ถ้ามองย้อนหลังไปปีที่ประเทศไทยแล้งจัดมีปริมาณฝนน้อยสุด คือ ปี 2522 หรือ 41 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณฝน 1,332 ม.ม. จากนั้นในปี 2535 หรือ 28 ปีที่แล้ว มีปริมาณฝน 1,357 ม.ม. เมื่อมาดูในปี 2563 คาดว่าจะมีฝน 1,342 มม. จึงต้องเตรียมรับมืออย่างเต็มที่เพื่อให้ผ่านช่วงแล้งปีนี้ไปให้ได้ก่อนที่จะมีฝนตก สถานการณ์น้ำในขณะนี้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่มีปัญหา จะมีปัญหามากในลุ่มเจ้าพระยาหรือภาคกลาง ซึ่งมีการประกาศก่อนหน้านี้ว่าขอความร่วมมือชาวนาอย่าปลูก ก็ปรากฏว่ามีการปลูกมากถึง 3 ล้านไร่ เมื่อมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ลงมาลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็ถูกลักลอบสูบน้ำไปหมด เจ้าหน้าที่ก็ได้แต่ไปขอความร่วมมือและกราบกันเลย เพราะจะต้องเก็บน้ำไว้สำหรับอุปโภคบริโภคด้วย แต่ถ้าต่อไปสถานการณ์ภาวะวิกฤติน้ำ ในระดับ 3 ที่นายกรัฐมนตรีลงมาควบคุม สามารถใช้บทลงโทษตามมาตรา 88 ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ถ้าใครไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”