รัฐบาลบูรณาการ ทำงานอย่างครอบคลุม กรณีสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 



  • ยืนยันรังสีที่พบอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน
  • พร้อมตรวจวัดรังสี และตรวจสุขภาพประชาชนต่อเนื่อง
  • ทางแพทย์ก็มีความสบายใจเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง

วันที่ 24 มีนาคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใย ติดตามและตรวจสอบกรณีการปนเปื้อนของวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่โรงงานหลอมเหล็กแห่งหนึ่ง ที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรีอย่างต่อเนื่อง

โดยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงความคืบหน้าว่า ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงการดำเนินการต่อกรณีดังกล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้นำผู้เชี่ยวชาญทางด้านรังสีและด้านการแพทย์ ซึ่งประกอบด้วย หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ และทีมงาน พร้อมอุปกรณ์ครบชุด รวมทั้งทีมแพทย์ นำโดยผู้อำนวยการของโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งที่อยู่ติดกับที่พื้นที่เกิดเหตุ ได้แก่ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา เข้าไปปฏิบัติงานและตรวจสอบในพื้นที่โรงงานหลอมเหล็กฯ รวมถึงได้รับทราบข้อมูลจากผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ผู้บังคับการตำรวจภูธร ผู้ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ และศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า พร้อมทีมงานของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติซึ่งไปอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุ 

สิ่งที่ได้ตรวจพบคือมีฝุ่นผงที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซึ่งอยู่ในถุงทั้งหมด 23 ถุง และได้มีการตรวจวัดโดยละเอียดของปริมาณสารฯ ซึ่งพบมีสารฯ อยู่ไม่มาก และเมื่อตรวจวัดแล้วในระยะที่ห่างออกไปประมาณ 3 เมตร ปริมาณรังสีที่ตรวจพบก็อยู่ในระดับปกติเมื่อเทียบกับภายนอก นอกจากนี้ยังได้มีการสำรวจทั้งภายในโรงงานและบริเวณรอบ ๆ โรงงานด้วยก็พบว่าปริมาณของรังสีที่มีอยู่ก็อยู่ในระดับปกติและไม่มีการฟุ้งกระจาย ซึ่งทางผู้เชี่ยวชาญทางด้านรังสี และทางแพทย์ก็มีความสบายใจเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง 

อย่างไรก็ตาม ตามนโยบายและข้อสั่งการของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ดำเนินการตรวจการฟุ้งกระจายของสารรังสีในสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงได้มีการตรวจดิน และน้ำทั้งในบริเวณโดยรอบและบริเวณที่ห่างออกไปอย่างละเอียด เพื่อดูว่ามีรังสีหรือไม่ ตลอดจนการตรวจอากาศโดยใช้จุดตรวจแต่ละจุดของประเทศซึ่งมีจุดตรวจมาตรฐานและมีความไวสูงมาก 

ทั้งนี้ ในส่วนของสุขภาพประชาชน อว. และผู้เชี่ยวชาญทางด้านรังสีและด้านการแพทย์ ได้ประชุมร่วมกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจยืนยันจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลปราจีนบุรีและโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ทั้งหมด ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ไม่มีผู้มีประวัติหรือมีอาการของการได้รับสารรังสี ขณะเดียวกันก็ได้มีการตรวจสุขภาพของผู้ที่ปฏิบัติงานที่อยู่ในโรงงานทั้งหมด 71 คน โดยเป็นการตรวจทั้งสภาพภายนอกและรายละเอียดถึงการสัมผัสว่ามีการปนเปื้อนรังสีในเสื้อผ้าหรือไม่ เจาะเลือดและตรวจปัสสาวะของผู้ที่มีโอกาสที่จะสัมผัสทั้งหมดซึ่งไม่พบว่ามีรังสีแต่อย่างใด ดังนั้น ในระดับของการควบคุมเชื่อว่าการกระจายอยู่ในวงจำกัดมาก คืออยู่ในพื้นที่ และบริเวณเตาหลอม และบริเวณที่เก็บฝุ่นที่เกิดขึ้น และไม่กระจายออกไปภายนอก โดยพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในบริเวณพื้นที่ควบคุม โรงงานหยุดเดินเครื่องแล้วกว่า 1 สัปดาห์ ก่อนเข้าสู่กระบวนการเก็บรักษาและควบคุมวัสดุปนเปื้อนต่อไป โดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการที่จะดูแลการเก็บกักกากสารเคมีต่าง ๆ เหล่านี้

นอกจากนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่และชุมชนเพื่อให้เข้ามาติดตามดูการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ด้วย รวมทั้ง ตรวจเช็คข้อมูลจากหน่วยงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเพื่อยืนยันข้อมูลที่ตรงกัน โดยในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังได้นำเครื่องมือเพิ่มเติมเข้าไปตรวจก็พบว่าระดับรังสีที่ตรวจได้มีอยู่ในระดับต่ำ คือวัดได้เฉพาะที่อยู่บริเวณถุงซึ่งปริมาณก็มีอยู่ไม่มากนัก และเมื่อตรวจห่างออกไปก็อยู่ในระดับปกติ