- สั่งวางแผนบริหารจัดการน้ำ
- รองรับฤดูฝนปี 2563
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยผลการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ขณะนี้ได้เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้วตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ประชุมจึงเห็นชอบ 8 มาตรการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับในฤดูฝน ปี 2563 เช่น การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย การปรับแผนการเพาะปลูกพืช ในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา 13 แห่ง ซึ่งพื้นที่ทุ่งบางระกำ ได้เพาะปลูกไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2563 ให้เก็บเกี่ยวได้ก่อนฤดูน้ำหลากเพื่อนำมาใช้เป็นพื้นที่สำหรับหน่วงน้ำ ส่วนอีก 12 แห่ง เกษตรกรสามารถเริ่มเพาะปลูกได้แล้วโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก รวมทั้ง การจัดทำเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝน โดยได้สั่งการให้กรมชลประทาน และทุกหน่วยงาน เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำ เช่น เร่งจัดเตรียมระบบสูบน้ำย้อนกลับเข้าอ่างฯ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออก เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการวางแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกฤดูฝน ปี2563 (1 พ.ค. – 31 ต.ค.63) โดยปริมาณน้ำต้นทุนฤดูฝน ณ วันที่ 1 พ.ค. 63 มีทั้งสิ้น 37,433 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ขณะที่ประเมินความต้องการใช้น้ำรายกิจกรรม ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน รวม 83,085 ล้าน ลบ.ม. แบ่งออกเป็น 1.อุปโภค-บริโภค 3,653 ล้าน ลบ.ม. 2.รักษาระบบนิเวศ 11,496 ล้าน ลบ.ม. 3.เกษตรกรรม 67,166 ล้าน ลบ.ม. แผนการเพาะปลูกทั้งประเทศรวม 76.271 ล้านไร่ แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน 27.61 ล้านไร่ นอกเขตประทาน 48.66 ล้านไร่ และ 4.อุตสาหกรรม 770 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ ปริมาณน้ำที่ต้องการในส่วนที่เหลือจะอาศัยปริมาณน้ำฝนอีกประมาณ 63,372 ล้าน ลบ.ม.
อย่างไรก็ตาม เพื่อเตรียมการวางแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกฤดูฝน ปี 2563 ให้มีประสิทธิภาพ สทนช. ร่วมกับกรมชลประทาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และกรมส่งเสริมการเกษตร จะร่วมกันประเมินสถานการณ์และคาดการณ์การจัดสรรน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 36 แห่ง โดยวางแผนปรับปริมาณการใช้น้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่
“ในช่วง พ.ค. – ก.ย. 63 บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบางพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จะมีฝนต่ำกว่าค่าปกติ รวมทั้งยังมีโอกาสที่จะเกิดฝนทิ้งช่วงได้ในช่วงระหว่าง มิ.ย. – ก.ค. 2563 ซึ่งอาจส่งผลให้บางพื้นที่ประสบภัยแล้งได้ แม้ว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว จำเป็นต้องเฝ้าระวังปัญหาแล้งในบางพื้นที่ด้วย รองนายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้มีกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือกอนช. ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่แล้งซ้ำซาก ที่ต้องช่วยกันวางแผนรองรับในระยะยาว ควบคู่ไปกับการเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำรองรับช่วงฤดูฝนนี้ด้วย”