“ประวิตร” สั่งด่วนแก้ปัญหาความเค็มในพื้นที่อีอีซีเหตุน้ำทะเลหนุนสูง



  • ชี้ส่งผลกระทบน้ำอุปโภคบริโภค-เกษตรกรรม
  • เร่งลดความเค็ม ควบคู่ กักเก็บน้ำ รองรับฤดูแล้งปี64

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้มอบหมายให้ พล.ร.อ.พิเชฐ ตานะเศรษฐ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ และขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะสถานการณ์ ปัญหาคุณภาพน้ำในแม่น้ำ ที่มีค่าความเค็มสูงเกินกว่ามาตรฐาน อันเนื่องมาจากน้ำทะเลหนุนสูง อยู่ในขณะนี้ ณ ห้องประชุม อาคารจุฑามาศ สทนช. เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ทร่ผ่านมา สรุปผลการประชุม ที่สำคัญดังนี้

สถานการณ์น้ำในปัจจุบัน พื้นที่ภาคตะวันออก มีแหล่งน้ำ 14,560 แห่ง แยกเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 6 แห่ง ขนาดกลาง 44 แห่ง และขนาดเล็ก 1 4,510 แห่ง ปัจจุบันมีการกักเก็บน้ำต้นทุนไว้แล้ว 1,942 ล้าน ลบ.ม. ตลอดช่วงฤดูแล้งปี 64 จะมีความต้องการใช้น้ำ 1790 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสามารถบริหารการใช้น้ำ ได้อย่างเพียงพอ แต่เนื่องจากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง ทำให้ต้องมีการใช้น้ำต้นทุน ผลักดันน้ำเค็ม เพื่อรักษาคุณภาพน้ำไว้ จึงต้องบริหารแผนการใช้น้ำ อย่างระมัดระวัง โดยให้กรมชลประทาน ติดตามค่าความเค็ม ณ สถานีวัดคุณภาพน้ำ ทั้ง 4 แห่ง อย่างใกล้ชิด ต่อไป

ที่ประชุม ยังได้มีการพิจารณาแนวทาง การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เกษตรกรรม โดยมอบหมายให้ สทนช., กรมชลประทาน, กรมทรัพยากรน้ำบาดาล, กรมทรัพยากรน้ำ ให้ร่วมกันประสานข้อมูล พื้นที่เกษตรกรรม ทั้งในเขตชลประทาน และนอกเขตชลประทาน เพื่อให้การบริหารทรัพยากรน้ำ การจัดทำโครงการต่างๆ มีการแบ่งหน่วยงานรับผิดชอบอย่างชัดเจน ไม่ให้มีความซ้ำซ้อน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดสรรน้ำครอบคลุม ทุกภาคส่วนและให้มีน้ำที่มีคุณภาพใช้ เพื่อการเกษตร รวมถึง น้ำอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม อย่างเพียงพอ ต่อไป

พล.ร.อ.พิเชษฯ ยังได้ฝากความห่วงใยของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. ที่มีต่อประชาชนผู้ใช้น้ำ โดยขอให้ทุกหน่วยงาน เร่งแก้ปัญหา สาเหตุความเค็มของน้ำในแม่น้ำสายหลักในพื้นที่อื่นๆด้วย นอกเหนือจากภาคตะวันออก เพื่อให้คุณภาพน้ำ กลับสู่ภาวะปกติ โดยเร็ว