บช.ก.เปิดปฏิบัติการรอบสอง ตรวจค้น 9 จุด เครือข่ายสารวัตรซัว



  • “พล.ต.ท.จิรภพ” ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
  • กำชับให้ดำเนินการด้วยความละเอียดรอบคอบ
  • บก.ปอท. ประสาน ดีอีเอส ปิดกั้นเว็บไซต์การพนัน จำนวน 469 url

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 24 มี.ค.2566 ที่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง  พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท.ในฐานะ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เปิดเผยความคืบหน้าคดีสารวัตรซัว ว่าภายหลังจากมีปฎิบัติการในวันที่ 3 มีนาคม 2566 ลงพื้นที่ตรวจค้น 63 จุด สามารถตรวจยึดอายัดทรัพย์สินได้มากกว่า 1,400 ล้านบาท จับผู้ต้องหาได้ 7 ราย ซึ่งทางกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เมื่อวานนี้ (23 มี.ค.) ได้มีการปฏิบัติการเข้าตรวจค้นพื้นที่ 9 จุด ใน กทม.และ จันทบุรี สามารถตรวจยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หลายรายการ ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ 9 เครื่อง แทปเล็ต 1 เครื่อง คอมพิวเตอร์ พีซี 1 เครื่อง โน๊ตบุ๊ก 4 เครื่อง บัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้องกับเว็บพนัน และเชิญบุคคลเข้ามาสอบปากคำเพื่อขยายผลเพิ่มเติม ซึ่งภายหลังจากเข้าตรวจค้น 60 บริษัท ที่เกี่ยวข้องกับคดีสารวัตรซัว มีบุคคลที่จะต้องตรวจสอบถึง 150 คน ขณะนี้สามารถกำจัดวงมาได้เหลือ 20-30 คน ซึ่งบางคนมีหุ้นในบริษัท ที่เกี่ยวข้องหลายบริษัทและมีทรัพย์สินเกินกว่ารายได้ มีเส้นทางการเงินที่มีความผิดปกติ ทำให้ทราบว่ามีความเชื่อมโยงในคดี ซึ่งตอนนี้กำลังรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป   

ทั้งนี้ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมากและกำชับให้ดำเนินการด้วยความละเอียดรอบคอบ ทั้งนี้มีการประชุมคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน สัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดย พล.ต.ท.สันติ ชัยนิรามัย จเรตำรวจ ปฏิบัติราชการ บช.ก. ซึ่งจะติดตามความคืบหน้าของแต่หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายภารกิจไปดำเนินการ เช่น บก.ปอท.ตรวจสอบภาคอากาศ โดยได้ประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) ปิดกั้นเว็บไซต์การพนัน จำนวน 469 url บก.ป. รับผิดชอบการลงพื้นที่ตรวจค้นสถานที่เป้าหมายและดำเนินการในเรื่องสำนวนการสอบสวน บก.ปทส. ตรวจสอบอสังหาริมทรัพย์ ที่อาจมีความเกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งที่ดิน รีสอร์ต สนามกอล์ฟ ในหลายพื้นที่ทั้ง กทม.และอีกหลายจังหวัด บก.ปอศ. ดูเรื่องเส้นทางการเงิน ซึ่งต้องรวบรวมพยานหลักฐานจากหลายส่วน เช่น เส้นทางการเงิน ข้อมูลนิติบุคคล หลักฐานการเสียภาษี การถือครองทรัพย์สิน ข้อมูลจากสถาบันการเงินและผู้ให้บริการอื่น เป็นต้น

ส่วนกรณีของ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่ออกมายอมรับกลางงานแถลงว่า รับเงินจากสารวัตรซัว เพื่อให้เลิกหยุดแฉนั้น ทางกองบัญชาการสอบสวนกลางจะต้องพิจารณาก่อนว่าทางพนักงานสอบสวนมีอำนาจให้การตรวจสอบหรือไม่ และเงินที่ นายชูวิทย์ ได้มาเป็นเงินจากอะไร หากเป็นเงินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ที่เป็นมูลฐานความผิด ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ก็อาจเป็นความผิด ตามกฎหมายฟอกเงิน ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบต่อไป

ส่วนกรณีของ นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ออกมาแฉว่า มีตำรวจ 2 นายพล เข้าไปติดต่อ นายชูวิทย์ เลิกแฉคดีสารวัตรซัวนั้น จะต้องรอให้ทาง ทนายตั้ม นำหลักฐานเข้ามามอบให้กับพนักงานสอบสวนเพื่อตรวจสอบว่ามีนายตำรวจกระทำตามที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่ ส่วนเรื่องที่มีการโอนสกุลเงินดิจิทัลมูลค่า 50 ล้าน ให้กับ”กล่องดวงใจ”ของ นายชูวิทย์ ก็ต้องดูตามพยานหลักฐานที่ ทนายตั้ม แจ้งระหว่างการแถลงข่าวว่าจะให้ตำรวจสอบสวนกลาง ตรวจสอบ ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบต่อไปเช่นกัน