- 83.80% เลือกสุขภาพปลอดภัย แม้จะถูกจำกัดเสรีภาพ
- 78.87 % ไม่ควรอนุญาตให้เปิดร้านเหล้า ผับ บาร์
- 41.22% ให้คงเวลาเคอร์ฟิวเดิม 22.00-04.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “เสรีภาพหรือสุขภาพ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 11 – 13 พฤษภาคม 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,259 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับข้อเสนอให้ยกเลิก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก. ฉุกเฉิน) และ การให้ความสำคัญระหว่างเสรีภาพกับสุขภาพ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่าง ด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนด ค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0
ทั้งนี้จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนกับข้อเสนอให้ยกเลิก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก. ฉุกเฉิน) พบว่า ร้อยละ 35.98 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด – 19 ดีขึ้นเยอะเเล้ว อยากให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ จะได้เดินทางสะดวก และผู้ประกอบการสามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ร้อยละ 21.76 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด – 19 คลี่คลายลงแล้ว อยากให้มีการผ่อนปรน ในการดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ ร้อยละ 15.17 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 รอบ 2 ขึ้น และอยากให้สถานการณ์ดีขึ้นกว่านี้ ร้อยละ 25.74 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ อยากให้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด – 19 ปลอดภัย 100% ก่อน และเกรงว่าจะกลับมาเเพร่ระบาดรอบ 2 และร้อยละ 1.35 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนกับข้อเสนอให้ยกเลิกประกาศเคอร์ฟิว (4 ทุ่ม ถึง ตี 4) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.22 ระบุว่า เห็นควรให้มีเคอร์ฟิวตามเวลาเดิม เพราะ อยากให้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 หมดไป 100% ก่อน และลดการมั่วสุม ชุมนุม ที่จะก่อให้เกิดการเเพร่ระบาดรอบ 2 รองลงมา ร้อยละ 33.68 ระบุว่า เห็นควรยกเลิกเคอร์ฟิวไปเลย เพราะ ไม่สะดวกในการเดินทางเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ที่ทำงานตอนกลางคืนขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ และสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด – 19 ดีขึ้นเเล้ว ร้อยละ 23.99 ระบุว่า เห็นควรให้มีการปรับเวลาเคอร์ฟิวใหม่ เพราะ อยากให้ปรับเปลี่ยนเวลาให้ดึกมากกว่านี้ ประชาชนบางส่วนยังต้องทำงานอยู่ และจะได้สะดวกในการเดินทางมากขึ้น และร้อยละ 1.11 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ
เมื่อถามผู้ที่เห็นควรให้มีการปรับช่วงเวลาเคอร์ฟิวใหม่ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.73 ระบุว่า ช่วงเวลาเคอร์ฟิวใหม่ควรเป็นเวลา 00.00 น. – 04.00 น. รองลงมา ร้อยละ 18.21 ระบุว่า ควรเป็นช่วงเวลา 23.00 น. – 04.00 น. ร้อยละ 12.58 ระบุว่า ควรเป็นช่วงเวลา 00.00 น. – 05.00 น. ร้อยละ 6.29 ระบุว่า ควรเป็นช่วงเวลา 23.00 น. – 03.00 น. ร้อยละ 5.30 ระบุว่า ควรเป็นช่วงเวลา 23.00 น. – 05.00 น. และร้อยละ 16.89 ระบุว่า ควรเป็นช่วงเวลาอื่น ๆ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อรัฐบาลว่าควรอนุญาตให้ ผับ บาร์ ร้านเหล้า เปิดให้บริการ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.87 ระบุว่า ยังไม่ควรอนุญาตให้เปิด เพราะ ผับ บาร์ ร้านเหล้า ถือเป็นแหล่งมั่วสุม แออัด ประชาชนบางกลุ่มยังไม่ให้ความร่วมมือ เกรงว่าการกลับมารวมตัวกันของประชาชน อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 รอบ 2 รองลงมา ร้อยละ 18.03 ระบุว่า ควรอนุญาตให้เปิดได้แล้ว เพราะ ผู้ประกอบกิจการผับ บาร์ ร้านเหล้า ขาดรายได้ พนักงานตกงานมากขึ้น และควรมีมาตรการที่เข้มงวดในการป้องกันที่จะไม่ก่อให้เกิดการเเพร่ระบาดรอบ 2 และร้อยละ 3.10 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ
และเมื่อถามถึงการให้ความสำคัญระหว่างเสรีภาพกับสุขภาพ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 83.80 ระบุว่า เลือกสุขภาพที่ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 แม้ว่าจะต้องถูกจำกัดเสรีภาพบ้างก็ตาม เพราะ ถ้าประชาชนสุขภาพดี ทำให้ไม่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 รอบ 2 ขึ้น และเสรีภาพก็จะได้กลับมาในการดำรงชีวิต รองลงมา ร้อยละ 12.87 ระบุว่า เลือกเสรีภาพในการดำเนินชีวิต แม้ว่าจะต้องเสี่ยงกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 เพราะ อยากมีอิสระในการเดินทาง ประกอบอาชีพเหมือนเดิม และประชาชนส่วนใหญ่มีการดูแลและรับผิดชอบตัวเองมากขึ้น ร้อยละ 2.86 ระบุว่า อะไรก็ได้แล้วแต่รัฐบาลจะเห็นสมควร เพราะ ทั้ง 2 สิ่งมีความสำคัญเท่ากัน ต้องทำควบคู่กันไป และร้อยละ 0.47 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ
สำหรับลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.98 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.89 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑล และภาคกลาง ร้อยละ 18.11 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.60 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.42 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 48.69 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.31 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่างร้อยละ 7.55 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 15.96 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 20.97 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 34.39 มีอายุ 46 – 59 ปี และร้อยละ 21.13 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 95.39 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.18 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.79 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.64 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 23.19 สถานภาพโสด ร้อยละ 72.92 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.33 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.56 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส
ตัวอย่างร้อยละ 27.96 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 32.72 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.74 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 25.02 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.92 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 0.64 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 11.60 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.69 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 24.38 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 11.91 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 18.19 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 15.97 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.62 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 0.64 ไม่ระบุอาชีพ
ตัวอย่างร้อยละ 14.85 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 26.13 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 23.27 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 11.36 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.12 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 5.96 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 12.31 ไม่ระบุรายได้