ทรูมูฟ เอช ผนึก ศปอส.ตร.-กสทช. ยกระดับป้องกันภัยความเดือดร้อนจากมิจฉาชีพครบวงจร



  • เปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียน โทร. 9777 ให้ลูกค้าโทรฟรี
  • แจ้งเบอร์โทรต้องสงสัยและ SMS หลอกลวง เพื่อตรวจสอบแจ้งให้ลูกค้ามั่นใจ 
  • พร้อมส่งต่อเบอร์มิจฉาชีพให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการยับยั้งภัยจากมิจฉาชีพได้ทันท่วงที

นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า กลุ่มทรู ตระหนักถึงภัยอาชญากรรมออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากและมีกลโกงหลากหลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดความรำคาญและสร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้ที่หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยทรูมูฟ เอช ห่วงใยลูกค้า อยากให้มีความปลอดภัยและมั่นใจในการใช้บริการมากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากจะให้ความสำคัญในการดูแลปกป้องรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าแล้ว เรายังเดินหน้ายกระดับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ด้วยความตั้งใจแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม จึงร่วมมือกับ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือ ศูนย์ PCT และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ ตั้งเป้าในการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปแบบครบวงจร อันจะนำไปสู่การกวาดล้างจับกุมกลุ่มมิจฉาชีพและดำเนินคดีตามกฎหมาย 

โดยเปิดฮอตไลน์ 9777 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเบอร์โทรต้องสงสัยและ SMS มิจฉาชีพ สำหรับลูกค้าทรูมูฟ เอช โทรฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง รองรับทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พร้อมจัดตั้งทีมงานพิเศษโดยเฉพาะ คอยตรวจสอบ คัดกรองข้อมูลอย่างแม่นยำ และแจ้งผลการตรวจสอบแก่ลูกค้าภายใน 72 ชั่วโมง กรณีพบเป็นเบอร์โทร หรือ SMS จากมิจฉาชีพจริง จะดำเนินการบล็อกเบอร์โทร หรือ SMS นั้นทันที และประสานงานไปยัง กสทช. และ ศูนย์ PCT เพื่อเข้าสู่กระบวนการสืบค้นถึงต้นตอ ทำการจับกุมผู้กระทำความผิดให้ได้รับโทษตามกฎหมาย อีกทั้งยังมีคำแนะนำให้ลูกค้าสามารถบล็อกเบอร์และ SMS ต้องสงสัยได้ง่ายๆ ด้วยตัวเองด้วย นอกจากนี้ ทรูมูฟ เอช ยังพร้อมเพิ่มช่องทางรับเรื่องร้องเรียนผ่าน “มะลิ AI” บนแพลตฟอร์มทรูไอเซอร์วิส (True iService) รวมถึงขยายความร่วมมือกับผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน “Whoscall” เพื่อส่งต่อเบอร์มิจฉาชีพสำหรับการเตือนหมายเลขโทรเข้าหรือ SMS ต้องสงสัย ให้รู้ทันก่อนหลงเชื่อ ซึ่งจะทำให้สามารถยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เสมือนมีเกราะคุ้มกันภัยทางออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพตลอดการใช้บริการของทรูมูฟ เอช”

พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวว่า ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือ ศูนย์ PCT เดินหน้าขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมผสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการปราบปรามจับกุมผู้ก่ออาชญากรรมออนไลน์และดำเนินโครงการเชิงรุกเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนรู้ทันกลโกงของกลุ่มมิจฉาชีพ ซึ่งความร่วมมือกับ ทรูมูฟ เอช และ กสทช. ในครั้งนี้ จะช่วยเสริมการทำงานของศูนย์ฯ ให้รู้และเข้าถึงกลุ่มมิจฉาชีพได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น สามารถยับยั้งได้อย่างทันท่วงที และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การรับแจ้งเบาะแสจากประชาชนผู้ใช้บริการทรูมูฟ เอช เพื่อทำการติดตาม ตรวจสอบ สืบหาต้นตอ และเข้ากวาดล้างจับกุมกลุ่มมิจฉาชีพให้ได้รับโทษตามกฎหมายในที่สุด  มั่นใจว่าจะช่วยบรรเทาทุกข์ของประชาชน ตลอดจนช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดจากการตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ”

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล  รักษาการเลขาธิการ กสทช.  กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. เร่งศึกษาและคุมเข้มในการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และมิจฉาชีพที่ใช้ช่องทางออนไลน์ โทร และ SMS หลอกลวงประชาชน โดยได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วนเพื่อหามาตรการป้องกัน แก้ไข ตลอดจนแจ้งเตือนและให้ความรู้แก่ประชาชนไม่ให้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ  ซึ่งที่ผ่านมา กสทช. ได้รับความร่วมมือจาก ทรูมูฟ เอช ในการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้งจากในและต่างประเทศ ส่งข้อมูลและบล็อกเบอร์ต้องสงสัยเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และในครั้งนี้ เป็นที่น่ายินดีสำหรับผู้บริโภคที่ ทรูมูฟ เอช ได้ริเริ่มเปิด Hotline 9777 รับเรื่องร้องเรียนเบอร์โทรมิจฉาชีพและ SMS หลอกลวง ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าทรูมูฟ เอช ในการแจ้งข้อมูลเบอร์ต้องสงสัยให้ตรวจสอบ ทั้งยังเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์ PCT เพื่อนำไปสู่การสืบค้นและจับกุมคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยป้องปรามกลุ่มมิจฉาชีพและเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการโทรคมนาคมในวงกว้าง นับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด เพื่อร่วมกันกวาดล้างกลุ่มมิจฉาชีพให้ลดน้อยและหมดไปได้ในที่สุด