![B10C9F16-2F38-4934-A0A8-583F73A86A13](https://thejournalistclub.com/wp-content/uploads/2020/01/B10C9F16-2F38-4934-A0A8-583F73A86A13-1-696x521.jpeg)
![](https://thejournalistclub.com/wp-content/uploads/2024/08/Cover-KP_2560x304px.webp)
- น้ำทิ้งโรงงานอุตสาหกรรมที่ผ่านเกณฑ์กฎหมาย
- ผันเข้าระบบ 169 ล้าน ลบ.ม. ช่วยเกษตรกร
- เปิดลายแทงปริมาณน้ำในขุมเหมือง
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว. อุตสาหกรรมเปิดเผยว่า กระทรวงฯได้สำรวจปริมาณน้ำทิ้งโรงงานอุตสาหกรรม และแหล่งน้ำในขุมเหมืองแร่ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในภาคเกษตรกรรมช่วยแก้ปัญหาวิกฤติภัยแล้ง เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้มีส่วนช่วยเหลือเกษตรกร ช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในหลายๆ พื้นที่ โดยจากการสำรวจล่าสุดมีปริมาณน้ำรวม 169 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) ที่พร้อมผันน้ำให้ภาคส่วนต่างๆ ได้ใช้ประโยชน์ และกระทรวงฯ จะจัดส่งข้อมูลไปยัง ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการศูนย์ฯ เพื่อร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการ ดึงน้ำข้างต้นเพื่อใช้แก้วิกฤติภัยแล้ง
“น้ำในขุมเหมืองแร่ที่ปิดกิจการไปแล้ว ทั่วประเทศ พบว่า ในอดีตได้มีการนำไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และเป็นน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปา เช่น จังหวัดภูเก็ต ระนอง และพังงา ฯลฯ ซึ่งใน ปีนี้มีแหล่งน้ำในกลุ่มเหมืองแร่มี จำนวน 36 แห่ง รวม 105 บ่อเหมือง มีปริมาณ 166 ล้าน ลบ.ม. ที่สามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ได้ และปัจจุบันได้นำน้ำไปใช้ประโยชน์แล้ว 50 บ่อเหมือง คิดเป็นปริมาณ 65ล้าน ลบ.ม. “
นายสุริยะ กล่าวว่า การนำน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ไปใช้ประโยชน์ดังกล่าวจะสามารถดำเนินการได้ หลังจากที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จัดทำประกาศกรอ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรม นำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้งภายในเดือนม.ค.นี้ โดยล่าสุดพบว่าใน76 จังหวัดทั่วประเทศ มีโรงงานประเภทแปรรูปการเกษตรที่มีน้ำทิ้ง รวม3,103 โรง มีปริมาณน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดให้มีค่ามาตรฐานตามกฎหมาย พร้อมช่วยเหลือภาคเกษตรกรรม 3,772,417 ลบ.ม. สามารถช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่โดยรอบโรงงานได้ 1,500 ราย และถ้ารวมกับปริมาณน้ำในกลุ่มเหมืองแร่ที่มีปริมาณน้ำ 166ล้าน ลบ.ม. จะมีปริมาณน้ำรวม 169 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับ ข้อมูลแหล่งน้ำขุมเหมืองของ กพร. ในพื้นที่ภาคเหนือ มี 13 บ่อเหมืองในจังหวัดเชียงใหม่ พะเยา ลำปาง ลำพูน ปริมาณน้ำรวม 129 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี 17 บ่อเหมืองในจังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ เลย ศรีสะเกษ สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุบลราชธานึ ปริมาณน้ำรวม 11 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง มี 4 บ่อเหมืองในจังหวัดนครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ปริมาณน้ำรวม 1.7 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก มี 4 บ่อเหมืองในจังหวัดจันทบุรี ชลบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ปริมาณน้ำรวม 8 แสน ลบ.ม. ภาคตะวันตก มี 5 บ่อเหมืองในจังหวัดกาญจนบุรี ตาก ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี ปริมาณน้ำรวม 8.7 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ มี 6 บ่อเหมืองในจังหวัด ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส พังงา และภูเก็ต ปริมาณน้ำรวม 14 ล้าน ลบ.ม.