

- วางโครงสร้างเศรษฐกิจในอนาคตไว้แล้ว
- ออกมาตรการภาษีพัฒนาตลาดทุนไทย
- เพิ่มโอกาสให้เอสเอ็มอี
วันที่ 14 ก.ย.2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ เปิดงาน LiVE Demo Day: The New Road to Capital Market ในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ส่งเสริม SMEs / Startups ยกระดับขีดความสามารถและขับเคลื่อน” ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ของปีนี้ ยังมีแนวโน้มดีขึ้น แม้นักวิเคราะห์คาดว่าการระบาดของโควิดรอบที่ 2-3 จะทำให้เศรษฐกิจไทยไปไม่รอด แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับปีที่แล้วโตถึง 7.5% และเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสก็ถือว่าดีขึ้นตามลำดับ แม้ว่าจะไม่แข็งแรงมาก ขยายตัวศูนย์กว่าเปอร์เซ็น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังพร้อมช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยจะช่วยสนับสนุนลดหย่อนภาษีนำเข้าชุดตรวจโควิดด้วยตัวเอง หรือ เอทีเค พร้อมกับหักค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจเอทีเค ของบริษัทต่างๆ เพื่อเป็นการลดภาระให้กับผู้ประกอบการ ขณะที่ส่วนของมาตรการลดหย่อนภาษีต่างๆ ภายใต้แผนงานการพัฒนาตลาดทุนไทย หากมีส่วนใดที่มาตรการภาษีสามารถช่วยได้ กระทรวงการคลังยินดีที่จะช่วย เพื่อเพิ่มช่องทางให้ทุกคนได้รับโอกาสในเรื่องเศรษฐกิจระดับพื้นฐาน หรือระดับฐานราก
นายอาคม กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลมีการกู้เงินจำนวนมากถึง 1.5 ล้านล้านบาท ผ่านพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท และพ.ร.ก.เงินกู้เพิ่มเติม 500,000 ล้านบาทในการแก้ปัญหาและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 นั้นถือเป็นความจำเป็นในการใช้เครื่องมือทางการคลังเข้ามาช่วยในภาวะที่นโยบายการเงินไม่สามารถเดินหน้าได้อย่างเต็มที่ และทุกประเทศก็มีการกู้เงินในช่วงวิกฤตนี้ และยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีปัญหาในเรื่องของการหารายได้เพิ่มขึ้น เพราะได้วางโครงสร้างเพื่อเพิ่มรายได้ของประเทศในอนาคตแล้ว เช่น โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาค เป็นต้น
“ที่มีการพูดว่ารัฐบาลกู้เยอะ และไม่มีปัญญาในการหารายได้เพิ่มขึ้นนั้น จริงๆ แล้วเรามี โดยให้มองภาพโครงการ เช่น อีอีซี ก็เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มุ่งเน้นการเคลื่อนย้ายธุรกิจที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามา และการผลักดันการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค และนโยบายส่งเสริมธุรกิจอุตสาหกรรมซึ่งนับว่าเป็นโอกาสของไทยทั้งนั้น” นายอาคม กล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐได้พยายามผ่อนปรน เช่น การผ่อนคลายล็อกดาวน์วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อสร้างความสมดุลให้กับสุขภาพและเศรษฐกิจ รวมทั้งมีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยให้เงินเยียวยาผ่านระบบประกันสังคม ทั้งผู้ประกอบการและแรงงาน ส่วนกรณีแรงงานนอกระบบ จะมีการเปิดให้ลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือ ส่วนมาตรการทางการเงิน ซึ่งกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำงานร่วมกัน ซึ่งได้ออกราชกำหนด (พ.ร.ก.) สินเชื่อฟื้นฟูของธปท. วงเงินรวม 250,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยปัจจุบันมีการเบิกจ่ายแล้วเกือบ 10,000 ล้านบาท ช่วยเหลือเอสเอ็มอีแล้ว 30,000 ราย นอกจากนี้ ยังมีมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท เพื่อช่วยธุรกิจที่ปิดกิจการชั่วคราว ปัจจุบันให้บริการไปแล้ว 74 ราย มูลค่ารวมกว่า 11,000 ล้านบาท
“ถือว่ามาตรการสถาบันการเงินเป็นด้านหลักในการช่วยเอสเอ็มอี แต่หากมองในเรื่องตลาดทุน บริษัทที่มีธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลาง ก็สามารถมาร่วมระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) ได้ รวมทั้งการเปิด พอร์ต mai เพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี อย่างไรก็ตาม การที่จะเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ต้องมีกฎที่เข้มงวด โดยเฉพาะความโปร่งใสในเรื่องระบบข้อมูล การบันทึกบัญชีต่างๆ มีความชัดเจน ซึ่งตลท.และ ก.ล.ต. ก็มีแผนให้องค์ความรู้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี”