“ไบเดน” ลุย! แถลงประณาม “ปูติน” ถล่มยูเครน ชี้ประเมินสถานการณ์ผิดอย่างร้ายแรง



2 มี.ค.65 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ใช้การแถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภา หรือ “สเตท ออฟ เดอะ ยูเนียน” ประณามประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย เรื่องรุกรานยูเครน ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ในสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ขอให้ยูเอ็นออกมติเรียกร้องให้รัสเซียยุติการใช้ปฏิบัติการทางการทหารในยูเครนโดยทันที

ทั้งนี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แถลงต่อสภาเมื่อค่ำวันอังคารตามเวลาสหรัฐฯ นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่รับตำแหน่งเมื่อเดือนม.ค.ปีก่อน โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ขอให้ทุกคนยืนขึ้นปรบมือ เพื่อแสดงความสนับสนุนชาวยูเครนที่กำลังเผชิญการรุกรานจากรัสเซีย

พร้อมกันนี้ยังได้เปิดฉากวิจารณ์ประธานาธิบดีปูตินว่า ประเมินสถานการณ์ผิดอย่างร้ายแรง ขณะนี้เศรษฐกิจรัสเซียกำลังซวนเซ ทั้งหมดต้องโทษปูตินที่คิดว่า บุกเข้าไปในยูเครนแล้วโลกจะเปลี่ยนไป แต่กลับเจอกำแพงแห่งความแข็งแกร่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน และชาวยูเครนทุกคนได้แสดงให้เห็นถึงความไม่กลัว ความกล้าหาญ และความมุ่งมั่นที่เป็นแรงบันดาลใจให้ทั้งโลก

“สงครามของปูตินเป็นสิ่งที่ไตร่ตรองไว้ก่อนทั้งที่ไม่มีการยั่วยุ ปูตินไม่ยอมรับความพยายามทางการทูต และคิดผิดว่าชาติตะวันตกและองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติเหนือ หรือนาโต จะไม่ตอบโต้” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าว

ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศด้วยว่า สหรัฐฯจะห้ามเครื่องบินรัสเซียเข้าน่านฟ้า เช่นเดียวกับที่หลายประเทศได้ดำเนินการแล้วและเตรียมลงโทษรัสเซียให้รุนแรงมากขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ ผลสำรวจของรอยเตอร์/อิปซอสที่เสร็จสิ้นในวันเดียวกันพบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 43% พอใจท่าทีของประธานาธิบดีไบเดน ที่มีต่อรัสเซีย เพิ่มขึ้นจาก 34% ในการสำรวจเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่ผู้ตอบ 47% ไม่พึงพอใจ

ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ คือ 94 ประเทศ จาก 120 ประเทศในสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็น ตำหนิรัสเซียเรื่องรุกรานยูเครน และขอให้ยูเอ็นออกมติเรียกร้องให้รัสเซียยุติการใช้ปฏิบัติการทางการทหารในยูเครนโดยทันทีและถอนกำลังทหารรัสเซียทั้งหมดออกไป 

โดยในจำนวนประเทศที่สนับสนุนมีอัฟกานิสถานและเมียนมารวมอยู่ด้วย ขณะที่เอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือ และคิวบา กล่าวโทษสหรัฐฯ และชาติตะวันตกว่า เป็นต้นเหตุของวิกฤตยูเครน เพราะพยายามขยายองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ไปทางตะวันออกจนประชิดพรมแดนรัสเซีย และจัดส่งอาวุธให้ยูเครน โดยไม่สนใจความกังวลเรื่องความมั่นคงของรัสเซีย สำหรับมตินี้ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่สะท้อนถึงความคิดเห็นของประชาคมโลก