ไข่แพงอีกแล้ว! “จุรินทร์” สั่งกรมการค้าภายใน หารือด่วน! หลังราคาขยับแผงละ 9 บาท



  • เผยเช็ควันที่ 28 ก.พ.65 ไข่ไก่เบอร์ 3 ราคา 3.29 บาท/ฟอง บางห้างขาย 3.20 บาท/ฟอง
  • ชี้ตอนนี้ถือว่าราคาไม่ได้สูงเกินสมควร เพราะราคากำกับอยู่ที่ 3.50 บาท/ฟอง
  • รับสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน มีผลกระทบด้านราคาน้ำมัน ค่าเงินผันผวน
  • มองโอกาสส่งออกสินค้าไทย ที่รัสเซียเคยส่งออกไปทดแทนในตลาดสหรัฐฯ อียู

วันนี้ (1 มี.ค.65) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ราคาไข่สูงขึ้นแผงละ 9 บาท สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนว่า ที่ผ่านมาราคาไข่ไก่ลดลงมาตามลำดับ ราคาที่ขายให้กับผู้บริโภคเฉลี่ยทั้งประเทศ เมื่อวันที่ 28 ก.พ.65 ไข่ไก่เบอร์ 3 ราคา 3.29 บาท/ฟอง และบางห้างเหลือ3.20 บาท/ฟอง โดยกระทรวงพาณิชย์กำกับราคาไว้ที่ 3.50 บาท/ฟอง ที่คุยกับสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่

อย่างไรก็ตาม ตนทราบว่าต้นทุนของผู้เลี้ยงไก่ไข่ปรับสูงขึ้น โดยได้สั่งการให้กรมการค้าภายในเชิญสมาคมฯมาหารืออีกครั้ง เพื่อหาทางออกร่วมกันให้เกิดผลดีที่สุดทั้งเกษตรกรและฟาร์ม ผู้รวบรวมไข่ รวมทั้งผู้บริโภค ว่าจะทำอย่างไรให้สมดุลที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะอธิบดีได้หารือร่วมกันมาโดยตลอดอยู่แล้ว แต่ขอให้คุยกันอีกสักครั้ง ซึ่งมีการพูดคุยกันมาตลอด ไม่เช่นนั้นราคาไข่ไก่ไม่ปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมา 

“ตอนนี้ถือว่าราคาไม่ได้สูงเกินสมควร เพราะราคากำกับที่ 3.50 บาท/ฟอง ราคาเฉลี่ยยังอยู่ที่ 3.29 บาท/ฟอง” นายจุรินทร์ กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า เรื่องราคาสินค้านั้นทางกระทรวงพาณิชย์ดูแลมาตลอด โดยที่ผ่านมาราคาสินค้าปรับลดลงหลายหมวด รวมถึงกำกับใกล้ชิดทั้งหมด 18 หมวด โดยเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ตนได้แถลงว่าราคาสินค้าหลายหมวดมีการลดราคา โดยเฉพาะในห้างสำคัญที่เป็นตัวชี้นำตลาด เครื่องใช้ไฟฟ้าลดสูงสุดถึง 70% รายการสินค้าอื่นๆ อีกหลายรายการ มีการลดราคาลงมา หมูเนื้อแดง ล่าสุดราคาเฉลี่ยทั่วทั้งประเทศต่ำกว่า 150 บาท/กก. และห้างสำคัญบางห้าง เหลือ 128 บาท/กก.

“สำหรับผลกระทบของรัสเซีย-ยูเครน ที่จะมีผลกระทบมากคือราคาน้ำมัน ซึ่งมีผลกระทบไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญสำหรับค่าขนส่งสินค้าถึง 40% หากถามว่ากระทบการค้าที่ไทยค้ากับรัสเซีย-ยูเครนหรือไม่ ตนได้ไปดูสัดส่วนการส่งออกของไทยไปรัสเซีย ตลาดรัสเซียมีสัดส่วน 0.38% ของการส่งออกไทยที่ส่งออกไปทั่วโลก และยูเครน คิดเป็น 0.04% ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้ถือเป็นตลาดใหม่ของไทย ที่เราต้องบุกเบิกไปขยายตลาดเพิ่มเติม เพราะสัดส่วนอยู่ในระดับไม่สูง” รมว.พาณิชย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงฯ ไม่อยากเสียตลาดใดไป แต่ตอนนี้มีข้อจำกัดเพราะผู้ส่งออกต้องระมัดระวังค่าเงินรูเบิลผันผวนมาก การคิดอัตราแลกเปลี่ยนจะมีผลต่อกำไรขาดทุนทางผู้นำเข้ารัสเซียและผู้ส่งออกของไทย ตอนนี้เอกชนต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง คำนึงถึงค่าเงินด้วย ช่วงหลังค่าเงินรูเบิลต่ำลงมาก จะมีผลให้ผู้นำเข้ารัสเซียรู้สึกสินค้าจากทั่วโลกที่ส่งไปรัสเซียแพงขึ้น ตนคิดว่าภาคเอกชนไวอยู่แล้ว แต่เราก็เตรียมการหาตลาดทดแทนเพิ่มเติม มีสินค้าบางรายการที่สามารถส่งออกไปยังตลาดสำคัญทั้งสหรัฐฯ อียู ที่รัสเซียเคยส่งออกไปทดแทนได้เพราะถ้ารัสเซียส่งออกสินค้าเหล่านั้นไปไม่ได้ จะเป็นช่องทางหนึ่งของไทย ที่จะมีโอกาสทำตลาดได้บางส่วน” นายจุรินทร์ กล่าว