ให้พร้อมหากจะใช้ “เราชนะ” กับเรือโดยสารสาธารณะจ่ายเงินผ่านแอปฯแล้วต้องรับตั๋วฉีกด้วย



ส่วนเรือข้ามฟากกว่า 20 ราย ขอกรมเจ้าท่า-กรุงไทย ลงพื้นที่หน้างาน หาวิธีทำให้การจ่ายค่าโดยสารไม่ส่งผลต่อการเดินทางล่าช้า เป็นคอขวดที่ท่าเรือ

นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้หารือร่วมกับผู้แทนธนาคารกรุงไทย และผู้ประกอบการเรือโดยสาร เช่น เรือด่วนเจ้าพระยา,เรือด่วนคลองแสนแสบ และเรือข้ามฟาก เพื่อซักซ้อมแนวทางปฏิบัติในกรณีที่ผู้โดยสารระบบเรือประเภทต่างๆจะชำระค่าโดยสารโดยใช้เงินเยียวยาจากโครงการ”เราชนะ” ผ่านแอพ”ถุงเงิน” โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดให้ผู้ประกอบการเรือโดยสารสามารถลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ตั้งแต่วันที่29 มกราคม – 31 มีนาคม 2564 

อย่างไรก็ตามสำหรับความพร้อมของผู้ประกอบการแต่ละรายนั้นเช่น เรือด่วนเจ้าพระยา ที่เข้าร่วมโครงการ “เราชนะ” นั้น มีข้อสรุปว่า หลังจากที่ผู้ประกอบการเก็บค่าโดยสารแล้ว ซึ่งจะดำเนินการทั้งหมดรับชำระค่าโดยสารผ่านแอพฯก่อนลงเรือ  เมื่อจ่ายแล้วจะยังมีการฉีกตั๋วให้แก่ผู้โดยสารทุกคน เพื่อป้องกันปัญหา กรณีที่เมื่อมีการโดยสารเรือไปกลางทางแล้ว เกิดโทรศัพท์ดับหรือแบตเตอร์รี่หมด เมื่อนายตรวจฯมาขอตรวจตั๋วโดยสาร ก็สามารถแสดงตั๋วให้ตรวจได้ นอกเหนือจากการการตรวจตามระบบชำระ ที่จ่ายผ่านแอพฯ ที่วางระบบไว้ 

ส่วนกรณีบริการเรือข้ามฟากซึ่งมีราคาค่าโดยสารในหลายอัตรา ในวันนี้ผู้ประกอบการเรือข้ามฟากกว่า 20 รายได้ขอให้ธนาคารกรุงไทยและกรมเจ้าท่า ลงพื้นที่ ท่าเรือข้ามฝากแต่ละแห่ง เพื่อวางระบบให้การจ่ายค่าโดยสารผ่านแอพพลิเคชั่นไม่ส่งผลให้การเดินทางของประชาชนผ่านท่าฯ หรือโป๊ะ เกิดความล่าช้าสะสมเป็นคอขวด ซึ่งธนาคารกรุงไทยก็ได้ตอบรับที่จะลงพื้นที่เข้าไปช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวแล้ว

ทั้งนี้ในส่วนการประเมินจำนวนผู้โดยสาร ที่จะจ่ายเงินเยียวยา ตามโครงการเราชนะและแอพฯ ถุงเงิน จะมีมากน้อยแค่ไหนนั้น อธิบดีกรมเจ้าท่ายืนยันว่าน่าจะมีผู้โดยสารจ่ายเงินโดยวิธีดังกล่าวไม่มากนัก เนื่องจากที่ผ่านมาจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางโดยบริการเร็วดิศาลได้ลดลงมากกว่า 50% โดยทั้งเรือด่วนเจ้าพระยาและเรือด่วนคลองแสนแสบปัจจุบันเหลือผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 10,000 กว่าคนเท่านั้น รวมทั้งโครงการนี้ ก็จะมีช่วงเวลาใช้เงินตามโครงการ ถึงเดือนพฤษภาคมปีนี้เท่านั้น

ทั้งนี้ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินโครงการ “เราชนะ” เพื่อบรรเทาและลดภาระประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งจะมีการจ่ายเงินเงินเยียวยาให้คนละ 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน ตลอดโครงการ โดยมุ่งช่วยเหลือกลุ่มอาชีพอิสระและผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งผู้ให้บริการด้านขนส่งสาธารณะ สามารถเข้าร่วมโครงการ “เราชนะ” ในฐานะร้านค้าได้ เพื่อเพิ่มช่องทางและโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยจะต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com และดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” เพื่อรับชำระค่าบริการ ซึ่งจะเริ่มเปิดให้ร้านค้าลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม – 31 มีนาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 06.00 – 23.00 น. 

นายวิทยา กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ให้บริการด้านขนส่งสาธารณะทุกประเภท (ยกเว้นสายการบิน) ที่เข้าร่วมโครงการ“เราชนะ” ในฐานะร้านค้าจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ผู้ประกอบการด้านขนส่งสาธารณะและส่วนบุคคลที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย 2.กลุ่มสมัครเพื่อรับชำระค่าบริการรายย่อยทั่วไป ให้ลงทะเบียนได้ด้วยตนเองทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com โดยเตรียมข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบด้วย เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ชื่อ-สกุลสำหรับกลุ่มเรือโดยสารที่เจ้าของเป็นนิติบุคคล ประกอบด้วย เรือข้ามฟาก เรือโดยสารในแม่น้ำ ลำคลอง และทะเลสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ “เราชนะ” ได้ที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา โดยจะต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องและถูกต้องตามกฎหมาย โดยอธิบดีกรมเจ้าท่า ย้ำว่สผู้ให้บริการด้านขนส่งสาธารณะที่ต้องการร่วมโครงการ “เราชนะ” เตรียมความพร้อมก่อนลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ กรณีไม่สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ได้ ให้ติดต่อธนาคารกรุงไทยเพื่อเปิดบัญชีธนาคาร ผูกกับแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” แล้วจึงลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ “เราชนะ” กรณีที่มีแอปพลิเคชันถุงเงินอยู่แล้ว สามารถลงทะเบียนในโครงการ “เราชนะ” ได้ทันที