

- 3 กรมภาษีเก็บได้ต่ำกว่าเป้า 9.3 หมื่นล้าน
- รัฐวิสาหกิจติดลบ 2.8 หมื่นล้าน
- ห่วงกระทบปิดหีบ อาจต้องกู้เพิ่ม
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิ 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 ที่ต่ำกว่าประมาณการนั้น เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาหรับภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งทำให้รายได้ภาษีบางส่วนในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีการย้ายไปชำระในเดือนมีนาคม 2564 แทน โดยเฉพาะรายได้ของกรมสรรพากร
น.ส.กุลยา กล่าวว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563 -กุมภาพันธ์2564) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 926,770 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 1,406,827 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 386,810 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 516,229ล้านบาท
รายงานจากกระทรวงการคลังระบุว่า การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิใน 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563 – กุมภาพันธ์ 2564) จัดเก็บได้ 842,187 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 105,521 ล้านบาท หรือ 11.1% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 145,064 ล้านบาท หรือ 14.7% โดยยอดจัดเก็บรายได้ติดลบทุกรายการ ทั้งจาก 3 กรมภาษี ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร เก็บรายได้รวมกัน 868,556 ล้านบาท ลดลง 112,639 ล้านบาท จากปีก่อน และต่ำกว่าเป้าหมาย 93,510 ล้านบาท
ส่วนรายได้รัฐวิสาหกิจติดลบเช่นกัน มีการนำส่งรายได้ 42,995 ล้านบาท ลดลง 53,871 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน และลดลง 28,252 ล้านบาทเมื่อเทียบกับประมาณการตามเอกสารงบประมาณ เนื่องจากปีนี้รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่มีผลประกอบการลดลงจากผลกระทบโควิด-19 รวมถึงธนาคารรัฐก็นำกำไรไปใช้ในโครงการช่วยเหลือลูกหนี้ ขณะที่รายได้อื่นจากส่วนราชการจัดเก็บได้ 74,232 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณ 2,360 ล้านบาท โดยการจัดเก็บรายได้ปีนี้คาดว่าจะติดลบ ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลกังวลว่าจะกระทบต่อการปิดหีบงบประมาณ และเป็นไปได้ว่าอาจต้องมีการกู้เพิ่มเติมมาใช้ปิดหีบด้วย
ทั้งนี้กรมที่จัดเก็บรายได้ติดลบมากสุด คือ กรมสรรพากรเก็บได้เพียง 594,459 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 70,310 ล้านบาท โดยภาษีที่ลดลงส่วนใหญ่ เป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมเก็บได้ 127,950 ล้านบาท ภาษีเงินได้นิติบุคคลเก็บได้ 128,253 ล้านบาท เนื่องจากรัฐได้ออกมาตรการชะลอการเก็บภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ที่จะสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2564 อีกทั้งภาคธุรกิจ และประชาชนมีรายได้ลดลงทำให้เสียภาษีน้อยลง ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม 5 เดือนเก็บได้ 301,565 ล้านบาท น้อยกว่ายอดเฉลี่ยทั้งปีก่อนที่เก็บได้เกิน 7 แสนล้านบาท ขณะที่ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 5 เดือนทำได้เพียง 6,493 ล้านบาท น้อยกว่ายอดค่าเฉลี่ยทั้งปีที่แล้วที่ 71,239 ล้านบาท
สำหรับรายได้ของกรมสรรพสามิต ก็ลดลงเช่นกัน โดยเฉพาะภาษีน้ำมัน 5 เดือน เก็บได้เพียง 88,921 ล้านบาท น้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั้งปีที่เกิน 200,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับภาษียาสูบเก็บได้เหลือ 26,128 ล้านบาท ภาษีสุรา 25,909 ล้านบาท ภาษีเบียร์ 36,128 ล้านบาท ภาษีเครื่องดื่ม 9,128 ล้านบาท ยกเว้นภาษีรถยนต์มีแนวโน้มขยายตัวขึ้นจากปีที่แล้ว โดยเก็บได้ 43,070 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการจัดงานมหกรรมรถยนต์เมื่อปลายปี 63 ขณะที่กรมศุลกากรเก็บรายได้ 40,654 ล้านบาท แบ่งเป็นอากรขาเข้า 39,710 ล้านบาท อากรขาออก 94 ล้านบาท และรายได้อื่น 859 ล้านบาท