โควิดพ่นพิษ! 3 กรมภาษีส่อแววจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.63 –มิ.ย.64)​ จัดเก็บรายได้ 1.7 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ 195,000 ล้านบาท จากประมาณการตามเอกสารงบประมาณที่จะต้องนำส่งรายได้เข้ารัฐได้ไม่ต่ำกว่า 2.67 ล้านล้านบาท เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์​โควิด

ส่วน 3 กรมภาษีในช่วง 9 เดือนแรกปีงบประมาณ 2564 ได้แก่ กรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวมกัน 1.8 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้า 9.3% จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ 1.9 ล้านล้านบาท

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ในปี 2564 เป็นปีที่กระทรวงการคลัง เตรียมแผนเพื่อปฏิรูปภาษี ทั้งนี้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 กรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บภาษีได้รวม 416,174 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 11.5 % โดยในปีงบประมาณนี้ กระทรวงการคลังได้ตั้งเป้าหมายให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ทั้งปีงบประมาณไว้ที่  549,000 ล้านบาท

ทั้งนี้เป็นการปรับลดจากเป้าหมายเดิมซึ่งอยู่ที่ 630,000 ล้านบาท เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจลดต่ำลงจากเดิมมากจากโควิด อย่างไรก็ตามสินค้าที่จัดเก็บภาษีได้ลดลง คือ รถยนต์ และการบริโภคน้ำมันในประเทศที่ชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจ

นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า สำหรับผลการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ รอบ 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 กรมฯจัดเก็บได้ 1.31 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 53,700 ล้านบาท หรือ 4.3% แต่ต่ำกว่าประมาณการ 1.4 ล้านบาท ประมาณ 9.0% สาเหตุมาจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างไรก็ตามการเก็บภาษีในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ให้เป็นไปตามเป้างหมายเป็นเรื่องที่น่าลำบาก

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ยอดจัดเก็บภาษีตั้งแต่เดือนต.ค.63 –มิ.ย.64 สามารถเก็บรายได้แล้วกว่า 76,416 ล้านบาท สูงขึ้น 7% จากปีที่แล้ว 4,970 ล้านบาท และต่ำกว่าประมาณการณ์เอกสารงบประมาณ 2% หรือ 1,684 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามคาดว่าเมื่อถึงสิ้นปีงบประมาณ กรมศุลฯ จะเก็บรายได้ตามเป้าหมายที่ปรับปรุงใหม่ 93,000 ล้านบาท เนื่องจากภาคการส่งออกและนำข้าวของไทยกลับมาขยายตัวได้ดี และการเพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกนำเข้าส่งออกสินค้า