โควิดซัดระบบการเงินประเทศป่วน กรมบัญชีกลางแนะรัฐบาลเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษี และให้ประหยัดรายจ่าย



  • คลังระบุให้หารายได้จากที่ราชพัสดุ
  • เปิดบทวิเคราะห์รายงานการเงินแผ่นดิน ส่งถึงมือ ครม.

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบบทวิเคราะห์รายงานการเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณ 2563 ของกรมบัญชีกลาง โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับผลการดำเนินงานทางการเงินของรัฐบาล ต้องให้ความสำคัญกับมาตรการและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ เพื่อจัดหาแหล่งรายได้ใหม่ ขยายฐานภาษีให้ครอบคลุม โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ราชพัสดุและการจัดเก็บรายได้จากที่ราชพัสดุ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของรัฐวิสาหกิจให้สามารถนำส่งส่วนแบ่งกำไรและเงินปันผลให้มากยิ่งขึ้น

ขณะที่ทางด้านค่าใช้จ่าย ต้องควบคุมรายจ่ายประจำ โดยเฉพาะด้านบุคลากร ภาครัฐต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับบทบาทและภารกิจ เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายจ่ายลงทุนต่อวงเงินงบประมาณรายจ่าย การจัดสรรงบประมาณควรคำนึงถึงความจำเป็น เร่งด่วน คุ้มค่า ศักยภาพของหน่วยงาน ความพร้อมในการดำเนินงานและขีดความสามารถในการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด เน้นให้ภาคประชาชน ภาคเอกชน สามารถเข้ามาแบ่งเบาภาระในการแก้ไขและตอบสนองความต้องการของพื้นที่ และเน้นการพัฒนาระบบฐานข้อมูลภาครัฐและการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานภาครัฐ

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลมีรายได้รวม 2.56 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2562 จำนวน 111,833 ล้านบาท คิดเป็น 4.18 % ขณะที่มีรายจ่ายรวม 3.50 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 481,585.98 ล้านบาท คิดเป็น 15.94%ขณะเดียวกัน ครม.ได้รับทราบรายงานการเงินรวมภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ 2563 ของกระทรวงการคลัง ซึ่งในรายงานฉบับนี้ยังมีผลการวิเคราะห์ระบุว่า รายได้รวมของปีงบประมาณ 2563 ลดลง 8.95% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการหดตัว ส่งผลกระทบให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการและภาษีจากสินค้าและบริการลดลง รัฐบาลควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับมาตรการด้านการจัดเก็บรายได้ ซึ่งจะต้องมีการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้โดยการนำสินทรัพย์ของภาครัฐมาสร้างรายได้ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ราชพัสดุ

สำหรับงบแสดงฐานะการเงินและงบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงินของรัฐบาล หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) 8,422 หน่วยงาน จากทั้งหมด 8,439 หน่วยงาน คิดเป็น 99.80% มีหน่วยงานของรัฐที่ไม่ส่งรายงานการเงินในระยะเวลา 51 หน่วยงานคิดเป็น 0.60 % โดยผลการดำเนินงานทางการเงินรวมของภาครัฐ สิ้นสุด วันที่ 30 ก.ย. 2563 มีรายได้ทั้งสิ้น 7.08 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2562 จำนวน 953,688 ล้านบาท คิดเป็น 11.87% มีรายการที่สำคัญคือ รายได้แผ่นดิน 2.14 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2562 จำนวน 210,685 ล้านบาท คิดเป็น 8.95% เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการหดตัว ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลจากผู้ประกอบการและภาษีจากสินค้าและบริการลดลง

ด้านค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 7.11 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2562 จำนวน 499,113 ล้านบาท คิดเป็น 6.55% เกิดจากรัฐวิสาหกิจขายสินค้าและการให้บริการลดลงจากสถานการณ์โควิด-19 จึงส่งผลให้ต้นทุนขายสินค้าและบริการลดลงตามไปด้วย ขณะที่สินทรัพย์รวมมีทั้งสิ้น 31.33 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.72 ล้านล้านบาทคิดเป็น 5.81 % ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของที่ดินราชพัสดุ ส่วนหนี้สินรวมทั้งสิ้น 21.74 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.15 ล้านล้านบาท คิดเป็น 5.62 %