

- ไตรมาสแรกปีนี้ส่งออกไปจีนสูงสุด 186 ล้านเหรียญฯ
- ตามด้วยฮ่องกง เวียดนามรับอานิสงส์เอฟทีเอ
- เหตุ 17 ประเทศคู่เอฟทีเอลดภาษีนำเข้าให้ไทยแล้ว
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ติดตามการส่งออกทุเรียนไทยในไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ปี 64 พบว่า ทุเรียนไทยยังคงเนื้อหอม และได้รับความนิยมสูงสุด ส่งผลให้ไทยยังคงครองแชมป์ผู้ส่งออกทุเรียนเป็นอันดับที่ 1 ของโลก และครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในจีน โดยมูลค่าส่งออกไปจีนอยู่ที่ 186 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 14% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 63 คิดเป็นสัดส่วน 88% ของการส่งออกทุเรียนสดของไทยไปโลก ตามด้วยฮ่องกง 14 ล้านเหรียญฯ ลดลง 61.16% สัดส่วน 6.76% และเวียดนาม 10 ล้านเหรียญฯ ลดลง 79.17% สัดส่วน 4.86% แม้มูลค่าส่งออกไตรมาสแรกปี 64 ไปประเทศคู่เอฟทีเอ ทำได้ได้เพียง 211.32 ล้านเหรียญฯ ลดลง 15.75% และส่งออกไปตลาดโลก 211.98 ล้านเหรียญฯ ลดลง 16.04%
สำหรับการส่งออกทุเรียนสดของไทยไปจีน ขยายตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 46 ซึ่งเป็นปีแรกที่จีนเริ่มยกเว้นภาษีนำเข้าทุเรียนสดให้ไทยภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อาเซียน-จีน ที่ทำให้ทุเรียนไทยมีศักยภาพด้านการแข่งขันมากขึ้น โดยปี 45 ก่อนการบังคับใช้เอฟทีเออาเซียน-จีน ไทยส่งออกทุเรียนสดไปจีน เพียง 30,000 ล้านเหรียญฯ แต่ปี 46 เพิ่มขึ้นเป็น 1.90 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 6,233.33% จากปี 45 และมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดปี 63 มูลค่า 1,508 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 79,300% จากปี 46 และเพิ่ม 78% จากปี 62

“จะเห็นได้ว่า เอฟทีเอ ช่วยขจัดอุปสรรคทางภาษีนำเข้าในประเทศคู่ค้า และสร้างความได้เปรียบให้สินค้าไทย โดยปัจจุบันทุเรียนสดของไทยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าใน 17 ประเทศคู่เอฟทีเอ คือ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น อินเดีย ชิลี และเปรู เหลือเพียงเกาหลีใต้ที่ยังเก็บอยู่ที่ 36% แต่ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) มีลงนามเมื่อเดือนพ.ย.63 ไทยสามารถเจรจาให้เกาหลีใต้ลดภาษีนำเข้าทุเรียนสดได้ โดยจะทยอยลดภาษีจนเหลือ 0% ในปีที่ 10 หลังอาร์เซ็ป มีผลใช้บังคับ ซึ่งจะเพิ่มการส่งออกทุเรียนของไทยได้”