แก้ปัญหาทุเรียนอ่อน! ธ.ก.ส.เปิดตัวเครื่องวิเคราะห์คุณภาพทุเรียน รู้ผลใน 5 วินาที



  • หวังเรียกความเชื่อมั่นผู้บริโภค
  • สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสินค้าเกษตรไทย

วันที่ 12 พฤษภาคม 2564 นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และ รศ.ดร.รณฤทธิ์ ฤทธิรณ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมการอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน (มก.กพส.) ร่วมมอบเครื่องวิเคราะห์คุณภาพทุเรียนให้กับคุณศิริพรรณ เจริญแพทย์ ตัวแทนเกษตรกรอัจฉริยะ (Smart Farmer) จากจังหวัดจันทบุรี เพื่อนำไปใช้ในการวัดน้ำหนักแห้งและทำให้ทราบถึงความอ่อน-แก่ของทุเรียน ซึ่งช่วยลดการตัดทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด ณ ห้องโถง ชั้น 2 ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ กรุงเทพมหานคร

​นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาการจำหน่ายทุเรียนอ่อนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของผู้บริโภค และภาพลักษณ์ของสินค้าเกษตรของไทยทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออกเป็นอย่างมาก  

ดังนั้นศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. จึงได้ดำเนินการภายใต้โครงการแผนงานขับเคลื่อนนวัตกรรมเครือข่ายสู่ชุมชน โดยนำผลงานนวัตกรรมเครื่องวิเคราะห์คุณภาพทุเรียนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มาถ่ายทอดเพื่อพัฒนาต่อยอดให้กับเกษตรกรในชุมชนและคนในชนบท โดยขับเคลื่อนผ่านเกษตรกรต้นแบบในชุมชน หรือ Smart Farmer ของ ธ.ก.ส. ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตรเพื่อนำเครื่องวิเคราะห์คุณภาพทุเรียน ไปทดลองใช้กับเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อลดปัญหาการตัดทุเรียนอ่อนของเกษตรกร โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ผลผลิตทุเรียนกำลังออกสู่ตลาดในขณะนี้

ทั้งนี้ การวิเคราะห์ค่าความอ่อน-แก่ของทุเรียน สามารถทำได้หลายวิธี เช่น วิธีการหาน้ำหนักแห้งแบบมาตรฐาน คือ การอบแห้งโดยตู้อบลมร้อน ซึ่งต้องทำในห้องปฏิบัติการ ใช้เวลาในการทดสอบไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง และเป็นการทดสอบแบบทำลายตัวอย่าง แต่การใช้เครื่องวิเคราะห์คุณภาพทุเรียนที่ถ่ายทอดสู่เกษตรกรในครั้งนี้ จะเป็นการวัดค่าน้ำหนักแห้ง โดยไม่ทำลายตัวอย่างและรู้ผลภายใน 5 วินาที ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับเกษตรกรชาวสวนทุเรียน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเกษตรอำเภอ ที่สามารถใช้เครื่องนี้ในการสุ่มวัดน้ำหนักแห้งเพื่อควบคุมการตัดทุเรียนอ่อนไม่ให้ออกสู่ตลาด แทนการใช้วิธีการเดิมในห้องปฏิบัติการได้

“ธ.ก.ส. ได้วางแนวทางร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมส่งเสริมการเกษตร ในการติดตามและรวบรวมผลการใช้เครื่องวิเคราะห์คุณภาพทุเรียน เพื่อนำไปพัฒนาประสิทธิภาพให้ตรงตามความต้องการของเกษตรกร  รวมทั้งเพิ่มศักยภาพในการตรวจสอบ ควบคุมผลผลิตได้อย่างมีคุณภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค และสร้างความยั่งยืนในการจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรต่อไป”