“เพื่อไทย” ไม่รอช้า เปิดตัว 25 ผู้สมัครชิงชัย อบจ. ชูนโยบาย 6 ด้าน ลุยหาเสียง



  • จัดเต็มทั้งด้านเดินทาง-สุขภาพ-การศึกษา-การเกษตร-เอสเอ็มอี-ท่องเที่ยว
  • เผยการปกครองส่วนท้องถิ่น มีความสำคัญต่อประเทศ
  • ชี้พร้อมนำความรู้ สมัยไทยรักไทย มาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในจังหวัด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (9 พ.ย.2563) ที่พรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงการตีความของ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นมาตรา 34 ที่ กกต.ชี้ว่าพรรคส่งผู้สมัคร อบจ.ในนามพรรคและใช้โลโก้พรรคได้ แต่ห้าม ส.ส., ส.ว. ข้าราชการการเมือง รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐ ช่วยหาเสียงนั้นจะเป็นการลักลั่นของกฎหมายหรือไม่ว่าขึ้นอยู่กับการตีความกฎหมาย แต่ยอมรับว่าอาจขัดๆ และรู้สึกแปลกกันอยู่บ้าง แต่ทางพรรคก็พร้อมทำตามกฎหมาย 

“เท่าที่รับทราบ กกต.ไม่ได้มีมติเรื่องนี้เป็นเอกฉันท์ และท้ายที่สุดต้องให้คนที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ไปช่วยหาเสียง และเชื่อว่าหากพรรคไม่ได้ให้ ส.ส.ของพรรคไปช่วยหาเสียงก็จะไม่มีเรื่องร้องเรียน” นายชูศักดิ์ กล่าว

จากนั้นนายชูศักดิ์ พร้อมด้วย นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะทำงานนโยบายและวิชาการ พรรคเพื่อไทย และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรค ได้ร่วมกันเปิดแคมเปญนโยบายเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น โดยนายชูศักดิ์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเห็นว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสำคัญต่อประเทศ และระบอบประชาธิปไตย โดยหากท้องถิ่นมีความเจริญ ประเทศก็เจริญไปด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นต้นมา ให้ความสำคัญกับในเรื่องนี้ แต่ก็รู้สึกเสียใจว่าตั้งแต่การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. ได้ออกคำสั่ง ไม่ให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารและสภาท้องถิ่น ไว้เกือบ 5 ปี ผู้บริหารหลายจังหวัดถูกพักงาน โดยอ้างว่าเพื่อการสอบสวน แต่เมื่อมีการเลือกตั้ง ส.ส. ก็ให้กลับมาทำงานได้ เช่นเดียวกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ปัจจุบันนี้ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และยังไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด 

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า สนช. ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ไว้ตั้งแต่ 16 เม.ย. 2562 แต่เพิ่งจะมีการเลือกตั้ง เพราะมาจากกระแสเรียกร้องของประชาชน จนเกิดการเลือกตั้ง อบจ. เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ทั้งนี้ยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับท้องถิ่น ทั้งนายก อบจ. และ สมาชิก อบจ. ที่จะต้องดูแลประชาชนทั้งจังหวัด และมองว่าถ้าได้ผู้นำที่ดี ก็จะสร้างรากฐานที่ดีให้ท้องถิ่นและจังหวัด

อย่างไรก็ตาม ในส่งนของพรรคเพื่อไทย มีความเห็นว่าหากผู้สมัครใดมีความประสงค์อยากลงในนามพรรค ก็สามารถแจ้งความประสงค์ขอใช้ โลโก้และนโยบายพรรค ในการหาเสียงได้ โดยขณะนี้ มีอยู่ 25 จังหวัด ที่แจ้งความประสงค์เข้ามา ได้แก่

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ 1. จังหวัดชัยภูมิ นายสุชีพ เศวตกมล 2. จังหวัดมหาสารคาม นายศรีเมืองเจริญศิริ 3. จังหวัดหนองคาย นายธนพล ไลละวิทย์มงคล 4. จังหวัดหนองบัวลำภู นายวิชัย สามิตร 5. จังหวัดกาฬสินธุ์นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล 6. จังหวัดนครพนม นายสมชอบ นิติพจน์ 7. จังหวัดอุดรธานี นายวิเชียร ขาวขำ 8. จังหวัดอุบลราชธานี นายกานต์ กัลป์ตินันท์  9. จังหวัดยโสธร นายวิเชียร สมวงค์ 10. จังหวัดมุกดาหาร พ.ต.ท.ดร.จิตต์ ศรีโยหะมุกดาธนพงศ์  

ภาคเหนือ 6 คน ได้แก่ 1. จังหวัดเชียงใหม่ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร 2. จังหวัดเชียงราย นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ 3. จังหวัดลำพูน นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ 4. จังหวัดน่าน นายนพรัตน์ ถาวงศ์ 5. จังหวัดลำปาง นางสาวตวงรัตน์โล่ห์สุนทร 6. จังหวัดแพร่ นายอนุวัธ วงศ์วรรณ เบอร์ 1

ภาคกลาง 9 คน ได้แก่ 1. จังหวัดสุพรรณบุรี พล.ต.เทียมศักดิ์ สุขานุยุทธ 2. จังหวัดระยอง นายเกรียงไกร กิ่งทอง 3. จังหวัดนครนายก นายสิทธิชัย กิตติธเนศวร 4. จังหวัดปราจีนบุรี นายเกียรติกร พากเพียรศิลป์ 5. จังหวัดนครปฐมนายวินัย วิจิตรโสภณ 6. จังหวัดสมุทรสงคราม นายธนวุฒิ โมทย์วารีศรี 7. จังหวัดสมุทรสาคร นายเชาวรินทร์ ชาญสายชล 8. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายวิชิต ปลั่งศรีสกุล 9. จังหวัดสิงห์บุรี ดร.สุรสาล ผาสุก 

ด้านนายนพดล กล่าวว่า สำหรับนโยบายที่จะให้ผู้สมัครนำไปใช้นั้น พรรคเพื่อไทยไม่ได้มองท้องถิ่นเป็นฐานการเมืองแต่มองว่าท้องถิ่นเป็นฐานรากที่จะทำให้บ้านเมืองแข็งแรง และผู้สมัครในนามเพื่อไทยถือว่ามีความแตกต่างจากกลุ่มการเมืองอิสระ เพราะมีแนวคิดคือเอาประสบการณ์ ความรู้ สมัยพรรคไทยรักไทย มาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในจังหวัดสร้างรายได้ ภายใต้บริบทการเมืองที่เปลี่ยนแปลง เพราะที่ผ่านมาทุกคนเห็นแต่คำสัญญาที่ว่างเปล่า แต่ท้องถิ่นวันนี้ทุกคนต้องเน้นที่การประเมิน และผลงานเป็นหลัก 

สำหรับนโยบายแคมเปญกลาง ที่จะนำไปให้ผู้สมัคร อบจ. นำไปใช้ มี 6 ด้าน อันประกอบด้วย 1. ด้านการเดินทาง-ขนส่ง ด้วยระบบขนส่งคุณภาพใกล้บ้าน และเชื่อมท้องถิ่นเป็นเส้นเลือดฝอยด้านคมนาคม 2. นโยบายด้านสุขภาพ ที่เน้นให้คนในท้องถิ่นมีสุขภาพที่ดีขึ้น และอยู่ใกล้บ้าน 3. นโยบายด้านการศึกษา ที่ตั้งเป้าลดเด็กหลุดจากระบบศึกษาเพราะยากจน ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ภายใต้แนวคิด “ลูกคุณเราดูแล ลูกเราต้องเท่ากัน” และ“การศึกษาระดับโลกใกล้บ้าน” 4. ด้านการเกษตร-อาหารปลอดภัย ด้วยแนวคิด “เกษตรปลอดภัยใกล้บ้าน สู่ครัวโลก ปลูกในถิ่น กินไปทั่วโลก”  5. ด้าน SMEs OTOP และ 6. ด้านท่องเที่ยว-กีฬา-วัฒนธรรม เพื่อสร้างรายได้ในกับท้องถิ่น