เปิดสรรหาผู้ว่าธปท.คนใหม่ วันที่ 26 พ.ค.-16 มิ.ย.นี้!



  • รีบคัดเลือกให้แล้วเสร็จก่อน 2 ก.ค.นี้
  • ต้องมีความรู้ด้านการเงินของโลก-เศรษฐมหภาค
  • ผู้บริหารธนาคารรัฐก็สมัครได้

นายรังสรรค์  ศรีวรศาสตร์ ประธานกรรมการคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า คณะกรรมการคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศคณะกรรมการคัดเลือกผู้ว่าการธปท.โดยจะเปิดรับสมัครรวม 15 วันทำการ หรือ ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ค.- 16 มิ.ย.นี้  โดยผู้สนใจสามารถยื่นใบสมัครด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นยื่นใบสมัครแทนได้ พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบการรับสมัคร ณ สำนักนโยบายระบบการเงินและสถาบันการเงิน ชั้น 2 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในวันและเวลาราชการ

ทั้งนี้หลังปิดรับสมัครแล้ว คณะกรรมการฯ จะนัดประชุม เพื่อเปิดรายชื่อผู้สมัครในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ จากนั้นจะจัดให้มีการสัมภาษณ์เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครในช่วงปลายเดือนมิ.ย.นี้เป็นรายคน เพื่อสรุปรายชื่อจำนวนไม่น้อยกว่า 2 คน เสนอให้นายอุตตม สาวนายน รมว.คลังพิจารณาและเสนอเข้าสู่การอนุมัติของคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยขั้นตอนการคัดเลือกจะต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 2 ก.ค.นี้ เพื่อทูลเกล้าแต่งตั้งผู้ว่าธปท.คนใหม่

“ผู้สมัครสามารถแสดงวิสัยทัศน์ผ่านโปรแกรมนำเสนองาน พาวเวอร์ พ้อย (Power point) หรือ กระดาษไม่เกิน 4 แผ่น ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้มีการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ในวันเดียวจบ ทั้งนี้จะไม่ประกาศรายชื่อผู้เข้ารับสมัครจนกว่าจะคัดเลือกแล้วเสร็จ”

อย่างไรก็ตามหากมีผู้สมัครเพียงรายเดียว หรือ ไม่มีผู้สมัครเลย จะต้องเปิดให้มีการขยายระยะเวลาการรับสมัครเพิ่มเติม แต่เชื่อว่า แม้ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจกำลังมีปัญหา จะเป็นจังหวะให้กับผู้ที่สนใจเข้าสมัครได้แสดงความรู้ความสามารถ ซึ่งมองว่าเป็นความท้าทายสำหรับการทำงานของผู้ว่าธปท.คนใหม่

สำหรับคุณสมบัติทั่วไปของผู้สมัคร เช่น มีสัญชาติไทย มีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่ครม.เสนอชื่อเพื่อทรงแต่งตั้ง สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีจากสถาบันการศึกษาที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) รับรอง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีคุณสมบัติเฉพาะของผู้สมัคร เช่น มีความรู้ความเข้าใจด้านเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ และภาวะเศรษฐกิจการเงินของโลกเป็นอย่างดี มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนโยบายการเงิน นโยบายการกำกับดูแลสถาบันการเงิน และนโยบายเกี่ยวกับระบบการชำระเงินเป็นอย่างดี เป็นต้น

“ถ้าเป็นผู้บริหารจากบริษัทเอกชนจะต้องเคยบริหารธุรกิจที่มีมูลค่าเกิน 15,000 ล้านบาท ถ้าเป็นผู้บริหารสถาบันการเงินของรัฐ จะต้องอยู่ในตำแหน่งเบอร์ 2 ขององค์กรขึ้นไป ส่วนถ้าเป็นนักการเมือง จะต้องพ้นจากสภาพการเป็นการนักการเมืองไม่น้อยกว่า 1 ปี”