

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริม สนับสนุนและประสานความร่วมมือ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ที่มีตนเป็นประธานเมื่อเร็วๆนี้ ว่า สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ได้รายงานผลการดำเนินงานปี 2563 และรายงานแผนงานที่จะดำเนินการในปี 2565 โดยจะเน้นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งตรงกับแนวทางการขับเคลื่อนงานของ ศธ. นอกจากนี้ ที่ประชุมหารือเรื่องการปรับการเรียนการสอนของ กศน.ด้วย ซึ่งตนเห็นว่าที่ผ่านมาการจัดการศึกษาของกศน. จะเน้นให้ผู้เรียนได้รับคุณวุฒิการศึกษา
แต่ปัจจุบันการศึกษาเกิดการดิสรัปอย่างมาก ดังนั้น กศน.ควรปรับการเรียนการสอนโดยเน้นเสริมทักษะอาชีพที่จะตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานและศตวรรษที่ 21 ให้กับผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในการทำงาน และในอนาคต
“เรื่องดังกล่าว กศน.ควรให้ความสำคัญ และน่าจะมีความยืดหยุ่นในการบริการการศึกษามากขึ้น ขณะเดียวกันกศน.ต้องเน้นให้ความรู้เรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือเน้นการสอนเพื่อยกระดับรายได้ผ่านกระบวนการขายออนไลน์ ให้ความรู้ความเข้าใจด้านการตลาด และให้ความรู้เรื่องการออกแบบสิ่งของต่างๆ เพราะที่ผ่านมา กศน.ยังไม่ให้ความสำคัญเรื่องเหล่านี้กับผู้เรียนและบุคลากรมากพอ หาก กศน.สามารถพัฒนาและให้ความรู้เรื่องเหล่านี้ได้ จะสามารถยกระดับรายได้ให้กับชุมชนและผู้เรียนได้” นายณัฏฐพล กล่าว

นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า การปรับการเรียนการสอนโดยส่งเสริมทักษะด้านอาชีพให้กับผู้เรียนมากขึ้น เพราะจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้ทางกระทรวงศึกษาธิการ เห็นแล้วว่าปัจจุบันมีคนเปลี่ยนงานบ่อย กศน.จะต้องมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการชีวิต และเสริมทักษะอาชีพให้กับผู้เรียนด้วยเพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์และวางแผนขับเคลื่อนการศึกษาของ กศน. ให้มีความเข้มข้นมากขึ้น เช่น ปรับหลักสูตรให้มีความทันสมัย รองรับผู้สูงวัย วัยรุ่น และวัยทำงาน จะต้องเพิ่มทั้งเรื่องดิจิทัล ภาษาต่างประเทศ และต้องดูว่าจะทำให้หลักสูตรเหล่านี้สอดคล้อง และเชื่อมต่อกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้อย่างไร
“ส่วนการจะแยก กศน. ออกเป็นกรมหรือแท่ง เพื่อให้การบริหารงานคล่องตัวหรือไม่นั้น ผมมองว่าคงยังไม่มีความจำเป็นต้องแยก กศน.ออกเป็นแท่งหรือเป็นกรม เพราะขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการกำลังพยายามกระชับให้หน่วยงานต่างๆมารวมกัน เพื่อให้การทำงานเดินไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือ ถึงความเหมาะสมในการจัดสรรบุคลากร ที่จะต้องทำให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่ชัดเจน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเห็นความสำคัญเรื่องนี้ ส่วนเรื่องคุณภาพของ กศน.ที่สังคมมองว่าอาจจะไม่มีคุณภาพพอนั้น ขณะนี้ข้อจำกัดของผู้ฝึกสอน ที่อาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนหรือแรงจูงใจที่จะมาช่วยฝึกสอน แต่ถ้า กศน.แต่ละพื้นที่ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน จะทำให้พัฒนาชุมชนยกระดับราคาของผลิตภัณฑ์ต่างๆให้ได้รับการยกระดับเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้ผู้เรียน กศน.มากขึ้น” นายณัฏฐพล กล่าว