

- หลังเจรจาแล้ว 2 ครั้ง ส่วนครั้ง 3 เลื่อนเพราะโควิด
- ลั่นรอสถานการณ์ศรีลังกาคลี่คลาย และตั้งทีมเจรจาใหม่
- ย้ำช่วยขยายโอกาสการค้า-ลงทุน-ร่วมมือเศรษฐกิจ 2 ฝ่าย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ศรีลังกาว่า แม้ว่าศรีลังกาเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจ และความไม่สงบในประเทศ แต่ไทยจะยังคงเจรจาเปิดเอฟทีเอกับศรีลังกาต่อไป เพราะทั้ง 2 ประเทศได้เจรจากันมาแล้วถึง 2 ครั้งตั้งแต่ปี 61 โดยครั้งแรก ศรีลังกาเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนก.ค.61 ส่วนครั้งที่ 2 ไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนก.ย.61 และครั้งที่ 3 ศรีลังกาจะเป็นเจ้าภาพแต่ติดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในของศรีลังกา จึงทำให้การเจรจาต้องเลื่อนออกไปก่อน
สำหรับการเจรจาจัดทำเอฟทีเอฉบับนี้ จะครอบคลุมทั้งการเปิดตลาดการค้าสินค้า และบริการ การลงทุน การอำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคทางการค้า รวมถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยการเจรจา 2 ครั้งที่ผ่านมา ทั้ง 2 ฝ่านได้หารือประเด็นต่างๆ 11 ประเด็น จาก 14 ประเด็น เช่น ด้านการค้าสินค้า 2 ฝ่ายเห็นตรงกันที่จะเน้นเจรจาเพื่อลด/ยกเลิกภาษีสินค้าส่วนใหญ่ระหว่างกัน, ด้านการค้าบริการ เจรจาเปิดตลาดการค้าบริการในสาขาต่างๆ ระหว่างกัน, ด้านการลงทุน เจรจาเรื่องการเปิดเสรี การส่งเสริมการอำนวยความสะดวก และการคุ้มครองการลงทุน
ส่วนด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หารือความร่วมมือต่าง ๆ อาทิ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร ประมง อัญมณีและเครื่องประดับ การท่องเที่ยว วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม การเงินอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น
“ตามกำหนดการ ทั้งไทยและศรีลังกาจะสลับกันเป็นเจ้าภาพการประชุม โดยครั้งที่ 3 ศรีลังกาจะเป็นเจ้าภาพแต่คงต้องรอให้ศรีลังกา มีการตั้งทีมเจรจาชุดใหม่ก่อน หลังจากสถานการณ์ภายในประเทศคลี่คลาย”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้นำของ 2 ประเทศ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย และประธานาธิบดีศรีลังกา ได้ประกาศเปิดเจรจาเอฟทีเอระหว่างกันเมื่อวันที่ 12 ก.ค.61 และเจรจากันมาแล้ว 2 ครั้ง โดยคาดว่า เอฟทีเอฉบับนี้จะสร้างโอกาสให้กับไทยในการขยายการค้าและการลงทุนไปยังตลาดใหม่ในภูมิภาคเอเชียใต้ และใช้ศรีลังกาเป็นกระจายสินค้าไทยยังภูมิภาคอื่นๆ ได้ ทั้งเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป ขณะเดียวกัน ไทยสามารถเป็นช่องทางขยายการค้าของศรีลังกาไปสู่อาเซียนได้ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญมากมายสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ของไทย