เงินเฟ้อเดือน พ.ย.64 ทะยานสูงสุดรอบ 7 เดือน



  • ขยายตัวสูงถึง 2.71% ส่วนเฉลี่ย 11 เดือนโตแล้ว 1.15%
  • หลังราคาน้ำมัน-อาหารสด-อาหารกินในบ้าน นอกบ้านพุ่ง
  • คาดเดือน ธ.ค.โตต่อเนื่องดันทั้งปีขายตัวใกล้คียงเป้า 1.2%

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภค(เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพ.ย.64 ว่า เท่ากับ 102.25 เพิ่มขึ้น 2.71% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.63 สูงสุดในรอบ 7 เดือนนับตั้งแต่เม.ย.64 ที่เพิ่มขึ้น 3.41% ส่วนเมื่อเทียบเดือนต.ค.64 เพิ่มขึ้น 0.28% และเฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปีนี้ สูงขึ้น 1.15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออกจากการคำนวณ เดือนพ.ย.64 อยู่ที่ 100.68 เพิ่มขึ้น 0.29% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.63 ส่วนเมื่อเทียบเดือนต.ค.64 เพิ่มขึ้น 0.09% และเฉลี่ย 11 เดือนเพิ่มขึ้น 0.23%

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนพ.ย.64 เพิ่มขึ้น มาจากการปรับเพิ่มของค่าครองชีพ โดยมีสินค้าที่ปรับราคาขึ้นถึง235 รายการ สินค้าราคาลดลงเพียง 127 รายการ และสินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 68 รายการ ซึ่งมีสินค้าสำคัญที่ปรับขึ้น คือน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่ม 37.19% สินค้าเกษตรบางชนิด เช่น ผักสด เนื้อสุกร เครื่องประกอบอาหาร อาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สถานการณ์โควิดคลี่คลาย มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวเข้ามา ทำให้การจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น  

ส่วนสินค้าที่มีราคาลดลง เช่น ข้าวสาร ไก่สด ผลไม้สด เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ทั้งน้ำดื่มบริสุทธิ์ กาแฟผงสำเร็จรูปและเสื้อผ้า ขณะที่สินค้าอื่นๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและกลไกของตลาดในปัจจุบัน  

“แนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนธ.ค.64 คาดจะยังสูงขึ้นใกล้เคียงกับเดือนพ.ย. จากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้นราคาน้ำมันยังทรงตัวในระดับสูงและมีทิศทางเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและค่าขนส่ง โดยสินค้ากลุ่มอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้นตามความต้องการ ใกล้เคียงกับเดือนพ.ย.64 แต่ถ้าจะลดลงก็ลดเล็กน้อย ซึ่งต้องดูปัจจัยจากโควิดสายพันธุ์โอมิคอนประกอบว่าจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ส่วนทั้งปี 64 ยังอยู่ในเป้าหมาย 0.8-1.2%”  

สำหรับเป้าหมายเงินเฟ้อไทยปี 65 สนค.ประเมินการขยายตัว 0.7-2.4% ค่ากลาง 1.5% มีสมมติฐานจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) 3.5-4.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบทั้งปีเฉลี่ย 63-73 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ค่าเงินบาท 31.5-33.5 บาทต่อเหรียญฯ โดยเบื้องต้น คาดว่า ช่วง 2-3 เดือนแรกของปี 65 าเงินเฟ้อจะยังคงสูงขึ้นจากแนวโน้มราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูง และเงินเฟ้อจะเริ่มลดลงตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไป แต่ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงจากโอมิคอน ว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงใดด้วย ซึ่งถ้ากระทบกับเศรษฐกิจมาก ก็จะกระทบต่อเงินเฟ้อด้วย