“อาคม”​ยังไม่พิจารณาโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่



  • รอหารือ “กรมสรรพสามิต”
  • รอเวลาที่เหมาะสม
  • 8 เดือน จัดเก็บภาษีบุหรี่ได้ 43,000.85 ล้านบาท

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง ยังไม่ได้หารือกับกรมสรรพสามิต เกี่ยวกับการปรับโครงการภาษีบุหรี่ใหม่แต่อย่างใด ทำให้ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ไปในทิศทางใดและจะมีแนวทางอย่างไร ทั้งนี้การพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่นั้น ต้องพิจารณาด้วยความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมถึงต้องพิจารณาด้วยความสมดุระหว่างสุขภาพของประชาชากับการจัดเก็บรายได้จากภาษีบุหรี่ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการโครงสร้างภาษีบุหรี่ในปัจจุบัน ที่มีการจัดเก็บ 2 ขั้น คือ บุหรี่ที่มีราคาขายปลีกราคาต่ำกว่า 60 บาทต่อซอง จัดเก็บภาษีในอัตรา 20 % ส่วนบุหรี่ที่มีราคาขายปลีกราคาสูงกว่า 60 บาทต่อซองขึ้นไป จัดเก็บภาษีในอัตรา 40 % ส่วนอัตราภาษีตามปริมาณมวนละ 1.20 บาทนั้น ซึ่งได้ประกาศใช้ เมื่อ16 ก.ย.2560 เป็นต้นมา ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้จากภาษีบุหรี่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2560 จัดเก็บภาษีบุหรี่ได้ 68,603.09 ล้านบาท ปี2561 จัดเก็บได้ 68,548.17 ล้านบาท ปี2562 จัดเก็บภาษีได้ 67,410.24 ล้านบาท ปี 2563 จัดเก็บได้ 62,904.57 ล้านบาท และในช่วง 8 เดือนของปี2564 (ต.ค.2563-พ.ค.2564) จัดเก็บได้ 43,000.85 ล้านบาท

ขณะเดียวกันกรมสรรพสามิต ได้เร่งปราบปรามการลักลอบนำเข้าบุหรี่ ซึ่งปัจจุบันมีบุหรี่ที่ไม่ได้เสียภาษีในประเทศไทยอยู่พอสมควร ทำให้รัฐสูญเสียรายได้กว่า 2,000 – 4,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินที่สูง ที่สามารถนำมาช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ ในภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19นี้

ส่วนสาเหตุที่ทำให้มีการนำเข้าบุหรี่โดยไม่เสียภาษี เนื่องจากความแตกต่างของราคาขายปลีก โดยบุหรี่ที่เสียภาษีถูกต้อง ราคาซองละ 50-100 บาท แต่ราคาบุหรี่ที่หนีภาษีราคาซองละ 20-30 บาท อีกทั้งยังมีการปลอมแปลงบุหรี่จำนวนมาก ซึ่งปลอมแปลงได้เหมือนและใกล้เคียงกับของการยาสูบแห่งประเทศไทย (กยท.) โดยพื้นที่ที่มีการนำเข้าบุหรี่หนีภาษีมากที่สุด ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ตามแนวชายแดน ทั้งภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่าแหล่งผลิตบุหรี่ปลอม น่าจะอยู่ตามแนวชายแดนไทย ซึ่งกรมสรรพามิต ได้ประสานงานทุกฝ่าย เพื่อปราบปรามสินค้าหนีภาษีทุกชนิด

ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.63-5 ส.ค.64 )​ มีการกระทำผิด 21,934 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 499.43 ล้านบาท แบ่ง สุรา 12,544 คดี ค่าปรับ 113.16 ล้านบาท ยาสูบ 6,084 คดี ค่าปรับ 244.25 ล้านบาท ไพ่ น 459 คดี ค่าปรับ 7.11 ล้านบาท น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 1,123 คดี ค่าปรับ 62.24 ล้านบาท น้ำหอม 87 คดี ค่าปรับ 3.78 ล้านบาท รถจักรยานยนต์ 1,154 คดี ค่าปรับ 30.23 ล้านบาท และ สินค้าอื่น ๆ จานวน 483 คดี ค่าปรับ 38.66 ล้านบาท