

วันที่ 27 ก.ย.2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยในงาน Sustainable Thailand 2021 รวมพลังนักลงทุนสถาบันและภาคธนาคาร ร่วมกันประกาศเจตจำนงร่วมสร้างประเทศไทยยั่งยืน ว่า ขณะนี้จะต้องพิจารณาด้วยว่าหลังโควิดจบแล้ว เศรษฐกิจประเทศไทยจะเดินไปในทิศทางใด ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 13 จะออกมาเร็วๆ นี้ เพื่อเป็นแนวทางของประเทศไทย ส่วนกระทรวงการคลังนั้นพยายามจะสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและการฟื้นตัวจากการวางนโยบายการคลัง
“ช่วงที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดหลายระลอก รัฐก็พยายามควบคุมสถานการณ์ด้วยการนำมาตรการทางการเงิน และมาตรการทางการคลัง เพื่อช่วยเหลือธุรกิจและประชาชน เช่น โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ และโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ นอกจากนี้ ยังพยายามรักษาการบริโภคในประเทศอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าในปี 2564 นี้ เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในระดับ 1.3% ถือเป็นตัวเลขค่อนข้างดี และในปีหน้าจะรักษาแรงส่งต่อไป เพื่อให้การเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศ(จีดีพี)อยู่ที่ระดับ 4-5%”
นายอาคม กล่าวว่า การรับมือกับโควิด เพื่อรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รัฐบาลได้มีการวางรากฐานที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนแล้ว ซึ่งรัฐจะพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยมีมาตรการ 2-3 อย่างด้วยกัน โดยเฉพาะในการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม เพื่อช่วยดูแลประชาชน ซึ่งหากทำได้เร็วก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้าไปทดแทนรายได้ด้วย นอกจากนี้จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อให้มีรายได้มากขึ้น และวางนโยบายการคลัง เพื่อช่วยเหลือยามฉุกเฉิน ตามพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ฉุกเฉิน
ทั้งนี้ การฟื้นตัวระยะยาว ความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนมีความสำคัญ 6 เรื่อง ได้แก่ 1. การส่งเสริมโมเดล BCG หรือเศรษฐกิจชีวภาพหมุนเวียนและสีเขียว ซึ่งเน้นสร้างสินค้าหรือเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ในการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ เพื่อให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยรัฐก็ได้ออกพันธบัตรยั่งยืนต่างๆ และการส่งเสริมการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติแล้ว
2.ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ ในการลงทุน เช่น การลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจฝั่งตะวันออก หรืออีอีซี ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนการลงทุน ทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น 3.เศรษฐกิจดิจิทัล เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนในการทำธุรกรรมต่างๆ ด้วย 4.การให้ความสำคัญการสร้างโครงข่ายรับรองทางสังคม ซึ่งทุกคนควรจะได้รับการคุ้มครองผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนการออมแห่งชาติต่างๆ
5.การลดความยากจนและความไม่เท่าเทียม ในการวางนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาระบบสวัสดิการต่างๆ เพิ่มพูนคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น และมีการกระจายรายได้ให้มากขึ้น และ 6. บทบาทของตลาดทุนและการเงิน ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการทรัพยากร ซึ่งสิ่งที่อยากจะเห็นคือ การเงินสีเขียว (Green Finance) ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน