อว.เดินหน้าเร่งเครื่องโครงการ U2T for BCG ส่งเสริมการตลาดสินค้าชุมชน  



  • มหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCGเพื่อเพิ่มมูลค่า
  • ยกระดับวัตถุท้องถิ่นให้เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน
  • ดันสินค้าสู่ตลาดผู้บริโภค สร้างรายได้สู่ชุมชน

ดร. ดนุช  ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ยังคงมุ่งเน้นเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG หรือ Bio Circular Green Economy การผสมผสานระหว่างเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green) ในพื้นที่ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อให้   ผลิตภัณฑ์และบริการออกสู่ตลาดอย่างเป็นระบบ มีการทำตลาดและขายสินค้าทั้ง online/offline ทั้งในและต่างประเทศ โดย อว.เป็นผู้พัฒนาระบบ ในการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มต่างๆ”

“การมีโครงการ U2T for BCG เข้าไปในพื้นที่ เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ตระหนักในสิ่งแวดล้อม มีพลังในการขับเคลื่อนท้องถิ่น รักษ์ในท้องถิ่นบ้านเกิด ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ และบัณฑิตจบใหม่ กลับมาอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้กับชุมชนมากขึ้น”

 เช่นเดียวกัน ชาวบ้านในตำบลหนอกตาแต้ม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่เริ่มต้นจาก 2 คนในการทำฟาร์มจิ้งหรีด และเกิดปัญหามีปริมาณจิ้งหรีดตัวเล็กที่คงเหลือในฟาร์มจำนวนมาก และไม่สามารถจำหน่ายได้

ทางมหาวิทยาลัยราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวล ได้นำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปพัฒนาฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตรจากจิ้งหรีดที่หลากหลาย อาทิ แหนมจิ้งหรีด น้ำพริกจิ้งหรีด จนปัจจุบันเป็นวิสาหกิจชุมชน ที่ช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ในปีนี้ อว.จะเดินหน้าโครงการส่งเสริมการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์และแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้า U2T for BCG ให้เข้าถึงผู้บริโภค เพื่อเป้าหมายสร้างผลิตภัณฑ์และผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ

ด้าน นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สป.อว.) กล่าวเพิ่มเติมว่า  จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ มีจุดได้เปรียบในเชิงพื้นที่ และทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย ซึ่งมหาวิทยาลัยและชุมชนได้นำทรัพยากรมาเพิ่มมูลค่าเป็นสินค้าใหม่ๆ รวมถึงนำทรัพยากรที่เป็นของเสีย มาแปรรูปสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น ตาลโตนด ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นของจังหวัดเพชรบุรี และหนึ่งในวัตถุดิบหลักสำหรับทำขนมหม้อแกง ที่เป็นขนมหวานขึ้นชื่อของจังหวัด ทางอว.ได้เข้าไปส่งเสริมและพัฒนาในการยกระดับ ขนมหม้อแกงให้เป็นสินค้า BCG มากขึ้นยิ่ง โดยใช้น้ำตาลโตนดผสมกับ น้ำตาลPalatyne เพื่อเจาะกลุ่มคนรักสุขภาพและผู้ที่เบาหวานสามารถรับประทานได้ ที่สำคัญยังพัฒนาให้ขนมหม้อแกงจากเดิมเก็บได้เพียง 3 วัน สามารถเก็บได้ในระยะเวลา 1ปีครึ่ง และมากไปกว่านั้นขนมหม้อแกงจากU2T for BCG ยังโกอินเตอร์ไปยังตลาดต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา, เกาหลี เป็นต้น

จิรประภา ฉันแก้ว

เช่นเดียวกับ นางสาวจิรประภา ฉันแก้ว ผู้ปฏิบัติงานโครงการ U2T เฟส2 เล่าว่า ตำบลห้วยแม่เพรียง จ.เพชรบุรี มีทุเรียน เป็นผลไม้หลัก ทาง มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี และอว.ได้เข้าไปเพิ่มองค์ความรู้ในการนำเปลือกทุเรียน ที่มีฤทธิ์เป็นผลไม้ร้อนมาสกัดเป็นน้ำมันนวดจากเปลือกทุเรียน ช่วยบรรเทาอาการปวด รวมทั้งชุมชนได้มีบริการนวด ซึ่งถือเป็นการสร้างมูลค่าสินค้าและชุมชนได้อย่างมีคุณภาพ